สุเทพ ชมกรธ.ร่างก.ม.พรรคฯ ดี เขียนห้ามจ้างคนเป็นสมาชิก แนะ สนช.เพิ่มคนก่อตั้งพรรค แจงยิบข้อดี ม.21-22 เพิ่มโทษตัดสิทธิ์หัวหน้า-กก.บห.ป้องโกงเลือกตั้ง...

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ถึงเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างกฎหมายนี้ รอบคอบดี เขียนเอาไว้ในมาตรา 30 และ มาตรา 31 ป้องกันเอาไว้ กรณีห้ามพรรคการเมืองจะไปจ่ายเงินจ้างให้คนมาเป็นสมาชิกไม่ได้ และในมาตรา 31 เขียนไว้ว่าใครก็ตามห้ามรับจ้างไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองคือรับเงินเขาแล้วไปเซ็นชื่อเป็นสมาชิกพรรค ถือว่าผิดกฎหมายพรรคการเมือง และเป็นของใหม่ไม่เคยมีมาก่อนในกฎหมายพรรคการเมือง ใครฝ่าฝืนทั้งสองมาตรานี้ กฎหมายลงโทษจำคุกถึง 5 ปี และถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ปี ตรงนี้ถูกใจมวลมหาประชาชนมาก

ส่วนเรื่องสมาชิกยังติดใจอยู่เพราะในมาตรา 33 ของร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่กำลังพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรธ.เขียนว่าภายใน 1 ปีพรรคการเมืองต้องจัดให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คน ตนไม่เห็นด้วยเพราะจำนวน 5,000 คนนั้น ต้องเป็นตอนเริ่มแรกแล้วตอนไปขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว

สุเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนในมาตรา 9 ควรเพิ่มจำนวนสมาชิกก่อตั้งพรรคจาก 500 เป็น 5,000 คน และให้หาสมาชิกจาก 10,000 คนให้เป็น 100,000 คน หมายความว่าก่อนที่จะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. พรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100,000 คน ถึงจะมีสิทธิส่งคนลงสมัคร และมองว่าไม่ได้มากมายเพราะเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิมีประมาณ 40 ล้านคน สัดส่วนนิดเดียว ตรงนี้ต้องเพิ่มเป็น 100,000 คน และภายใน 4 ปีพรรคการเมือง จะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 400,000 คน ถึงจะถือว่าดำรงสภาพการเป็นพรรคการเมืองเอาไว้ได้ เพราะเราต้องบังคับให้พรรคการเมืองทำประโยชน์ให้ประชาชน จนเป็นที่ศรัทธาของประชาชน หากชำระค่าบำรุง หรือมีจำนวนสมาชิกต่ำกว่า 400,000 คน ก็ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ จึงขอให้ สนช.ได้พิจารณาทั้งสองเรื่องนี้

...

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบ และหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรค ที่กำหนดในมาตรา 21 ว่า จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่กฎหมายบังคับว่า กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบร่วมกันในมติต่างๆ ของพรรค ยกเว้นว่า ถ้าใครไม่เห็นด้วยกับมติไหนก็ให้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรคัดค้านเอาไว้

"อันนี้จะช่วยทำให้พรรคการเมือง ไม่ทำอะไรออกนอกลู่นอกทางสร้างความเสียหายให้กับประเทศและประชาชน โดยมาตรา 22 บังคับให้ กรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแล ไม่ให้สมาชิกพรรคฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ทั้งการทุจริตการเลือกตั้ง ที่กฎหมายระบุชัดว่า ถ้าหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรครู้ว่าสมาชิกพรรคทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง หากรู้เรื่อง แต่ไม่ระงับ กกต. สามารถถอดถอนกรรมการบริหารพรรคได้ทั้งคณะ พร้อมตัดสิทธิ ไม่ให้ดำรงตำแหน่งในกรรมการบริหารพรรคใดๆ อีกเป็นเวลา 20 ปี แถมมีโทษจำคุก 10-15 ปี ตรงนี้สำคัญมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ได้คนเลวๆ เข้ามาเหมือนเดิมทั้ง 2 มาตรานี้ หวังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ และยุติธรรมยิ่งขึ้น"