“สมชัย” เผยยุทธศาสตร์ กกต. รองรับการเลือกตั้งในอนาคต เพิ่มนวัตกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการใช้สิทธิ์ หวังให้การเลือกตั้งมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ
วันนี้ 15 เม.ย. 60 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง ให้สัมภาษณ์ในเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปีของ กกต.ว่า แม้ว่าแผนนั้นจะวางไว้ไกล แต่เราก็ต้องถอดแผนงานออกมาเป็นแผนระยะสั้น 1 ปี และแผนระยะยาวที่เรียกว่าแผน 5 ปี ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างพื้นฐาน การจะเดินไปสู่ 20 ปี โดย 5 ปีแรกก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมไปถึงการกำหนดแผนงานกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกัน รวมถึงกำหนดเป้าหมายในการทำงาน ว่าเมื่อทำงานแล้วสิ่งที่ต้องการให้เกิดความสำเร็จในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร โดยจะมีตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งประมาณ 10 ตัว และหลากหลายออกไป เช่น บางตัวก็อาจจะวัดทุกปี ตั้งแต่วันนี้จะมีการวัดและประเมินผลทุกปีก็เป็นไปได้ หรือบางตัวก็อาจจะเป็นการวัดเมื่อมีกิจกรรมใหญ่ๆ เช่น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องมีอะไรเกิดขึ้น และแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างไร และบางตัวก็จะเป็นการวัดโดยมองจากเวลาที่กำหนดไว้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อมีกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว จะต้องมีระยะเวลาให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมในระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วในช่วงของการทำกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมือง กกต.ต้องมีบทบาทในการเข้าไปส่งเสริม เพราะฉะนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วก็ต้องมาประเมินว่าเกิดความสำเร็จตามนั้นหรือไม่
นายสมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การบริหารจัดการเลือกตั้ง เราก็มีตัวชี้วัดที่จะประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปีใดจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างน้อย 11 อย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดค้นใหม่ขึ้นมาเพื่อที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หรือเพื่อที่จะช่วยทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมมากขึ้น โดยนวัตกรรมที่ กกต.ได้ทำแล้ว คือ การจดทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงที่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ต หรือการรับสมัคร ส.ส.โดยระบบอินเทอร์เน็ตควบคู่กับระบบปกติ เพื่อแก้ไขปัญหาการปิดล้อมหน่วยรับสมัคร การใช้บัตรสมาร์ทการ์ดในการแสดงตนของประชาชน เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เพราะปกติแล้วสังเกตได้ว่าเวลามีการเลือกตั้งล่วงหน้าตามที่ต่างๆ ซึ่งบางหน่วยมีจำนวนคนเข้าใช้สิทธิเกือบพันคน แล้วคนที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิ พอรอแถวนานเขาก็ถอดใจเลิกใช้สิทธิ ดังนั้นได้ออกแบบว่าการใช้สิทธิของเขตเลือกตั้งล่วงหน้าสามารถใช้สมาร์ทการ์ดในการแสดงตัวได้ ไปถึงก็เสียบบัตรในอุปกรณ์ที่ทาง กกต.ได้เตรียมไว้ ทั้งนี้ ก็ต้องดูว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งจริงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
...
นายสมชัย ยังกล่าวว่าในเรื่องของการประเมินจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องดูถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยว่า คนจะมาใช้สิทธิมีความตื่นตัวมากน้อยขนาดไหน อย่างไรก็ตาม กกต. จัดเตรียมกลไกทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนทุกกลุ่มทุกประเภทให้มากที่สุด ดังนั้นการที่จะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าให้เพียงพอ ขยายเวลาเลือกตั้งล่วงหน้าให้มากขึ้น การกำหนดเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกทุกกลุ่มยกตัวอย่าง เช่น แอปพลิเคชันในการนำคนไปยังหน่วยเลือกตั้ง ที่เรียกว่าแอปดาวเหนือ หรืออำนวยความสะดวกกับผู้สูงอายุ ถ้าใครต้องการเพิ่มหน่วยเลือกตั้งพิเศษ ก็สามารถแจ้งมาได้ ซึ่ง กกต.พยายามให้ทุกสิทธิทุกเสียงมีความหมาย ยกตัวอย่างเช่น คนไทยในต่างประเทศ ซึ่งจากเดิมก็จะเอาคะแนนที่นับได้ส่งกลับมาที่ประเทศไทย แต่ถ้าส่งไม่ทันภายในกำหนด คะแนนดังกล่าวก็จะเสียไป เราจึงเปลี่ยนกลไกลใหม่ว่าให้นับคะแนนในสถานทูตแต่ละที่อยู่ประจำประเทศนั้นๆ เลย ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ประเทศไทยได้ปิดหีบ เมื่อนับคะแนนเสร็จสถานทูตก็จะเป็นผู้ส่งคะแนนทั้งหมดกลับมาที่ประเทศไทย เราก็จะกระจายคะแนนไปยังเขตเลือกตั้งต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดสำหรับผู้ที่มาใช้สิทธิไม่ได้ เช่น ผู้ป่วย เราจะนำรถเลือกตั้งเคลื่อนที่ไปในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยที่อยู่ประจำอำนวยความสะดวกให้ ส่วนการคาดการสำหรับผู้ที่จะมาใช้สิทธิ เราต้องรอผลที่เกิดขึ้นอีกทีหนึ่ง
ทั้งนี้ ในส่วนของด้านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาสังคม ในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ยิ่งทำยิ่งลดลง ล่าสุดในการเลือกตั้งเมื่อการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีองค์กรเอกชนเข้าร่วมประมาณ 22 จังหวัด ซึ่งหายไป 55 จังหวัด ฉะนั้นระหว่างการเตรียมการก็ต้องไปสร้างเครือข่ายภาคเอกชน ส่งเสริมองค์กรเหล่านั้นให้เกิดความพร้อม และเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็จะต้องมีองค์กรเอกชนให้ครบทุกจังหวัด ในขณะเดียวกันจะต้องครอบคลุมในพื้นที่อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ ของหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ การใช้สิทธิของประชาชนก็จะมาจากการที่ได้รู้ถึงข้อมูลเท็จจริงเกี่ยวกับผู้สมัคร และพรรคการเมือง เพื่อเป็นเกณฑ์ในการเลือกของประชาชน ซึ่งทำให้ได้นักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศ.