สปท.โหวตผ่านปมร้อน 91 ต่อ 27 เสียง หั่นวาระดำรงตำแหน่งกำนันเหลือ 5 ปี ฝ่าเสียงค้านอดีตผู้ว่าฯ หวั่นสร้างความแตกแยกในพื้นที่ เตรียมส่งข้อเสนอให้ ครม.พิจารณาดำเนินการต่อ
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.60 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี น.ส.วลัยลักษณ์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเรื่อง "ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2557 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนันวาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และร่างพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่...) พ.ศ....." มีสาระสำคัญคือการลดวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันจากเดิมให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี เหลือให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนที่เลือกจากผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นๆ ที่ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนันให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี ไม่จำกัดวาระรวมทั้งการให้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ใหญ่บ้านทุก 3 ปี จากเดิม 5 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ สปท.สายอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อาทิ นายปรีชา บุตรศรี นายศานิตย์ นาคสุขศรี นายธงชัย ลืออดุลย์ นายธวัชชัย ฟักอังกูร ต่างอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ.การเมือง ที่เสนอให้กำนันอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี เพราะจะสร้างความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายประชาชนในพื้นที่เป็นกลุ่มๆ จึงไม่อยากให้นำเรื่องการเมืองระดับชาติมาเชื่อมโยงกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยวาระการทำงาน 5 ปี เป็นการทำงานที่สั้นเกินไป ทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการทำงาน ควรให้อยู่ในตำแหน่งถึงอายุ 60 ปี ตามเดิม
...
ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน สปท.การเมือง กล่าวว่า ข้อเสนอ สปท.การเมืองกลั่นกรองมาอย่างรอบคอบ ขอให้สมาชิก สปท.ถอดหัวโขนเดิมออก แล้วทำหน้าที่ตัดสินใจแทนประชาชนจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สปท.พร้อมปกป้องผลประโยชน์คนทั้งประเทศหรือไม่ แต่จะตัดสินใจอย่างไรตนพร้อมยอมรับผลการตัดสิน แต่ขอยืนยันว่าหากไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงยึดติดแนวคิดเดิม การปฏิรูปจะเกิดไม่ได้หากปล่อยให้กำนันอยู่ในอำนาจแบบผูกขาดถึงอายุ 60 ปี ถ้าได้คนไม่ดีมาเป็นกำนันจะทำอย่างไรแต่ถ้าให้อยู่ในวาระครั้งละ 5 ปี จะทำให้กำนันมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากกว่า และการเลือกตั้งไม่ได้ทำให้สังคมแตกแยกถ้าเลือกแล้วจบ ยอมรับกติกา ก็จะไม่เกิดความแตกแยก
ทั้งนี้หลังจากที่สมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 91 ต่อ 27 งดออกเสียง 32 โดยให้ส่งรายงานความเห็นให้ ครม.รับไปดำเนินการต่อไป