"วิษณุ" โต้ "วัฒนา" ปัดใช้ ม.44 สืบทอดอำนาจ ชี้ยังจำเป็นใช้แก้ปัญหาเร่งด่วน ยันไม่คิดใช้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โยนถาม "บิ๊กป้อม" ปมปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรม
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 60 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ โจมตีการใช้มาตรา 44 เพื่อสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.ว่า ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่มีความจำเป็น องค์กรอิสระที่ยังไม่ครบวาระ ไม่มีใครไปยุ่ง แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ คตง.กำลังจะครบวาระในเร็ววันนี้ ถ้าปล่อยจนครบวาระกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ถ้าปล่อยให้ครบวาระแล้วไม่มีกฎหมายเขียนให้ทำหน้าที่ต่อได้ อย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะครบวาระถึง 5 คน ในเดือน พ.ค.เหลือ 4 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมที่จะพิจารณาคดีได้ ถ้ารอการสรรหาใหม่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ เข้าใจว่าจะเป็นฉบับสุดท้ายใน 10 ฉบับ อาจใช้เวลาเป็นปีจึงต้องแก้ปัญหา วิธีนี้ไม่ได้ล่วงเกินเข้าไปในอำนาจของใคร ไม่มีการล็อกอะไรทั้งสิ้น เพราะยึดคุณสมบัติตามกฎหมายลูก
ส่วนผู้ว่าฯ สตง.มีอายุครบเกณฑ์ในเดือนนี้ และจะครบวาระเดือน ก.ย. เหมือน คตง.จึงให้ทำหน้าที่ต่อไประหว่างการสรรหาจนถึงเดือน ก.ย. และ คตง.เป็นผู้สรรหาผู้ว่า สตง. จึงอยากให้ คตง.ชุดใหม่เป็นผู้ทำหน้าที่ ระหว่างนั้นให้รองผู้ว่าฯ สตง.รักษาการไปก่อน ยืนยันไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน ถ้าอยากได้อำนาจหรือล้วงลูกอะไรคงต้องรื้อหมด ตั้งแต่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่เราไม่ยุ่ง สององค์กรที่ทำก็คิดแล้วคิดอีก จนกระทั่งปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเขียนคุณสมบัติมาให้ ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดไม่ให้รักษาการจนกว่าจะมีกฎหมายลูก
...
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า วิธีนั้นถือเป็นทางออกหนึ่งแต่จะมีข้อครหาได้เหมือนกัน เพราะวาระเกินและอายุครบ ที่ผ่านมาเมื่อวาระครบจะมีการขยายให้ แต่ถ้าอายุครบเราไม่ทำอะไร โดยศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งอายุและวาระครบ จึงไม่สมควรขยาย
เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกการใช้ มาตรา 44 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอบคุณในความเป็นห่วง แต่มาตรา 265 ในรัฐธรรมนูญรับรองการใช้อำนาจมาตรา 44 อยู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่าจะใช้เท่าที่จำเป็น ยืนยันจะไม่ใช้ล่วงเกินแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้เพื่อเป็นโทษกับใคร จะใช้ในกรณีทางปกครอง และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน ซึ่งไม่สามารถใช้มาตรการตามปกติแก้ไขปัญหาได้ ความจำเป็นการใช้มาตรา 44 มีมาก ที่ผ่านมา รัฐบาลคัดออกไปหลายเรื่อง เมื่อพิจารณาแล้วว่าจำเป็นก็ต้องใช้ในทางสร้างสรรค์ เช่น การแก้ไขปัญหาให้การประกอบธุรกิจดำเนินด้วยความสะดวกมากขึ้น การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย เหล่านี้ถ้าจะแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลาหลายเดือน และเราใช้มาตรา 44 น้อยลงมา 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะที่ว่า เสนอมา 10 ฉบับ รับมา 1 และได้หารือกับ คสช.เกี่ยวกับการพิจารณาเกี่ยวกับมาตรา 44 ที่ประกาศใช้ไปแล้ว บางฉบับจะต้องยกเลิก บางฉบับจะยังคงอยู่ และบางฉบับจะแปลงไปเป็น พ.ร.บ.
เมื่อถามถึงกรณีที่นักการเมืองเรียกร้องให้ผ่อนปรน ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ดูแลฝ่ายความมั่นคง เพราะฝ่ายความมั่นคงจะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์.