ศูนย์รวมใจเดินหน้าประเทศ : ปวงชนชาวไทย "ปลื้มปีติ" ในหลวงพระองค์ใหม่
ทีมข่าวการเมือง
4 ธ.ค. 2559 05:01 น.
“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธานและเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง”
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์
ณ เวลา 19.16 นาฬิกา วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 รัตนโกสินทร์ศก 235 “มหาราชาฤกษ์” ราชอาณาจักรไทยมี “พระมหากษัตริย์” พระองค์ใหม่
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ท่ามกลางเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกึกก้อง พร้อมกับเสียงย่ำฆ้องกลองระฆังทุกวัดไทยทั่วโลก พระสงฆ์สวดเจริญชัยมงคลคาถา ถวายพระพรชัยมงคล
ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ
เข้าสู่แผ่นดิน “รัชกาลที่ 10” โดยสมบูรณ์
ครบขั้นตอน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล และโบราณราชประเพณี
โดยฉากประวัติศาสตร์ประเทศไทยถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ให้คนไทยทั้งประเทศได้ร่วมซึมซับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ 70 ปี
อยู่ในบรรยากาศขลังๆการเปลี่ยนรัชกาลและปลื้มปีติกับ “ในหลวง รัชกาลที่ 10”
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.เปรม ติณสูลา-นนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
“บุคคลสำคัญ” ที่ร่วมในพิธีการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์
ตามสถานะ ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ครบ 3 เสาหลักอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นั่นก็เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะทรงใช้พระราชอำนาจผ่านฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
รัฐบาล สภา ศาล ภายใต้พระปรมาภิไธย
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงชัดเจน ณ บัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงไว้ซึ่งอำนาจตามรัฐธรรมนูญทุกประการ
ส่วนการดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชขัตติยประเพณีที่เรียกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัย ซึ่งมีพระราชดำริแล้วว่า ควรดำเนินการหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมโกศแล้ว
นั่นก็พอจะคาดการณ์แนวโน้มปฏิทินงานล่วงหน้า
ตามเงื่อนเวลาที่ต้องเดินคู่ขนานกันไประหว่างพระราชพิธีกับกระบวนการตามโรดแม็ป
เบื้องต้นเลย พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงลง พระปรมาภิไธยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามกำหนดที่ต้องประกาศบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า 2560
เป็นจุดต่อเนื่องที่สำคัญของขั้นตอนโรดแม็ปที่เดินต่อไปสู่การเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชน
ทั้งนี้ ตามกระบวนการ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะเป็นจุดเริ่มกระบวนการจัดทำกฎหมายลูกหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ตามความคืบหน้าล่าสุดที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดเผยเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแก้ถ้อยคำอีกเล็กน้อย แต่ยังมีเนื้อหาคงเดิม ไม่แตกต่างจากที่มีการเปิดเผยไปก่อนหน้านี้
นั่นก็หมายถึง การคงยุทธศาสตร์ “ล้างหน้าไพ่”
แบบที่ค่ายการเมืองใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแง่ต่อต้าน “การเซ็ตซีโร่” ตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ ทำให้พรรคเก่าไม่ได้เปรียบพรรคการเมืองตั้งใหม่
เพียงแต่ไม่เซ็ตซีโร่ด้วยการออกกฎหมายโดยตรง แต่ล้างกระดานกันด้วยการกำหนดเงื่อนคุณสมบัติ
เป้าหมายตอน “นักการเมืองพันธุ์เก่า”
และโดยแนวโน้มก็น่าจะสถานการณ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ตามสูตรของ “ซือแป๋มีชัย” ที่ยึดหลักการเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม”
แบบที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาโยนทุ่นเป็นเชิงวิเคราะห์ “ตัวแปร” ที่อาจแทรกให้โรดแม็ปเลื่อนไป ในมุมของความวุ่นวายในการเลือกตั้ง
ถ้าหากจัดเลือกตั้งทันทีหลังกฎหมายลูกเสร็จ อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่
โดยเฉพาะการเลือกตั้งตามกติกาใหม่แบบที่ยังไม่เคยเจอ กับการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่มีวิธีนับคะแนนคิดสัดส่วนแตกต่างจากเดิม
ไม่ใช่ใครได้คะแนนมากที่สุดแล้วจะชนะ พรรคที่ได้คะแนนไม่ใช่มากสุดอาจชนะก็ได้
อ่านทางยี่ห้อ “ซือแป๋มีชัย” ต้องเน้นดัดหลังเซียนเลือกตั้ง
สกัดไม่ให้รัฐบาลพรรคเดียวยึดสภาได้
เบื้องต้นนายมีชัยยืนยันจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเป็นการภายในก่อน เพื่อให้มีเวลาศึกษารายละเอียด รวมถึงมีแนวคิดส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยองค์กรอิสระต่างๆให้ สนช.พิจารณาควบคู่ไปด้วย ตามรูปการณ์การจัดทำกฎหมายลูกไม่น่าจะมีปัญหาล่าช้า
เพราะทำพิมพ์เขียวล่วงหน้ามาก่อนแล้ว
โดยแนวโน้มขั้นตอนตามโรดแม็ปที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนรองรับพระราชพิธีสำคัญเพื่อความเหมาะสมของสถานการณ์ได้ตลอดเวลา
ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องชั่งน้ำหนัก วัดผลได้ ผลเสีย
เช่น ถ้าจะหดโปรแกรมการเลือกตั้งเข้ามาเร็วขึ้น เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขลดแรงเสียดทานจากต่างประเทศ คืนบรรยากาศประชาธิปไตยเพื่อแลกกับการลดแรงกดดันรัฐบาลทหาร มาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ทางการทูต
และนั่นก็หมายรวมถึงความเป็นไปในการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาต้อนรับแขก ผู้นำชาติต่างๆที่ได้รับเชิญให้มาร่วมพระราชพิธีสำคัญของราชสำนักไทย
แต่ตรงกันข้าม ถ้าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญ การเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ 9”
โดยบรรยากาศการหาเสียงมันก็ขัดกับกาลเทศะอย่างสิ้นเชิง
นี่เป็นน้ำหนักของการดึงเวลาเลือกตั้งออกไป
โดยเงื่อนไขย้อนแย้ง มันก็เป็นอะไรที่ตัดสินใจลำบาก อย่างที่แกนนำรัฐบาลทหาร คสช.ออกตัวไว้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวแปรชี้ขาดสถานการณ์ที่ต้องประเมินกันวันต่อวัน
ไม่มีใครเสี่ยงฟันธงล่วงหน้าได้
อย่างไรก็ตาม โดยสถานการณ์ ณ วันนี้ ถือว่าประเทศไทยได้ผ่านก้าวจังหวะสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์รอบ 70 ปีไปได้แล้ว
อย่างนิ่มนวลและราบเรียบ
ไร้แรงกระเพื่อมใดๆทั้งในมุมของเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง
ในบรรยากาศความปลื้มปีติของไพร่ฟ้าประชาชนคนไทย “ในหลวง รัชกาลที่ 10” ทรงเป็น “ศูนย์รวมใจ”
โดยความตั้งพระทัยที่จะตามรอยพระบาทของพระราชบิดา
เปรียบเหมือนแสงทองส่องฟ้าราชอาณาจักรไทย เป็นความหวังใหม่ในการนำประเทศไทยกลับสู่ความเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
อนาคตสดใส ในแผ่นดินของ “องค์มหาวชิราลงกรณ”
แต่ก่อนอื่นเลยทุกฝ่ายต้องมุ่งสำรวจตัวเองด้วย
นักการเมืองที่ถูกตั้งแง่มาตลอดว่า เป็นตัวการนำประเทศไทยติดหล่มวงจรอุบาทว์จนเกือบล่มสลาย เพราะพฤติกรรมน้ำเน่า แก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์
ข้าราชการที่ใส่เกียร์ว่าง ทำงานเช้าชามเย็นชาม แต่มุ่งทุจริตคอร์รัปชันจนเป็นเรื่องชินชา
กลุ่มทุนใหญ่ที่จ้องแต่จะกอบโกยกำไร ผูกขาดธุรกิจ จนทำให้เกิดภาวะความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันมากขึ้นทุกวัน
แม้แต่ประชาชนไทยเองที่เริ่มเคยตัวกับพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ละเลยหน้าที่ ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม
ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างพฤติกรรมสะสมทำให้ประเทศไทยติดหล่มวิกฤติ
ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาปฏิรูปตัวเองให้พร้อมไปสู่อนาคตที่ดี
เพื่อประเทศไทยที่สดใสในอนาคต.