เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากก็คือการที่ประเทศไทยไม่ได้รับการโหวตให้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของสหประชาชาติ UNSC คู่แข่งก็คือ คาซัค
สถาน ปรากฏไทยได้ 55 เสียง แพ้คาซัคสถานที่ได้ 138 เสียง ถือเป็นคะแนน 2 ใน 3 ที่ต้องนับคะแนนกันถึง 2 ครั้ง
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหลายมุมมอง แต่ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ความเป็น “ประชาธิปไตย” เนื่องจาก “รัฐบาลทหาร” ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเหตุผลหลัก
แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งมองว่า เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามว่าทำไมจีนและรัสเซียซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล คสช.ก็ตาม
ไม่ยอมโหวตให้ไทยเพราะอะไร?
ว่ากันว่า การที่ไทยไม่ได้รับโหวตนั้น มีเค้าลางมาจากความพ่ายแพ้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ในตอนนั้นไทยแพ้คะแนนโหวตให้เป็นสมาชิกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยูเอ็นเอสซีอาร์ เมื่อปี 2557 จากจำนวน 15 ประเทศ
นั่นเป็นผลสะท้อนที่ทำให้ไทยพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง
มีการเสนอแนะว่ารัฐบาลไทยต้องทบทวนนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาคมโลก
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์แก่ประชาคมโลกว่าไทยเป็นชาติผู้นำเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
แม้ว่าการแก้ไขปัญหาการ “ค้ามนุษย์” จนประสบผลสำเร็จหลังจากที่สหรัฐฯยกระดับจาก “เทียร์ 3” ขึ้นมาเป็น “เทียร์ 2” แล้วก็ตาม
แต่ในสภาพความเป็นจริง ไทยมีปัญหาทางด้านการเมืองและการปกครองที่เกิดความขัดแย้งมานับ 10 ปีจนกระทั่ง คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองและบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้เนื่องเพราะความจำเป็น
เพื่อยุติปัญหาและทำให้บ้านเมืองสงบลง
เป็นเหตุผลอีกด้านหนึ่งที่หลายประเทศมีความเข้าใจ แต่อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯและชาติในยุโรปไม่ยอมรับในเหตุผลนี้
ก็มีคำถามเช่นกันว่า แล้วทำไมจีนและรัสเซียที่เข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว ทำไมไม่โหวตให้ประเทศไทยจนพ่ายแพ้อย่างไม่ติดฝุ่น
ซึ่งมีการชี้ว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของไทย แต่ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
เมื่อไทยได้รับการโหวตให้เป็นสมาชิกยูเอ็นเอสซีด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่ก็เกิดปัญหาตามมาเมื่อไทยได้วีโตสหรัฐฯกรณีลิเบียจนทำให้สหรัฐฯเสียหน้าเพราะสนับสนุนมาแท้ๆ แต่กลับวีโตสหรัฐฯเสียเอง
นี่เป็นเรื่องคาใจเก่าๆที่ผ่านมา
จีนก็คงจะมองเรื่องนี้ไม่ต่างกันว่าจะคุมไทยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ถ้าโหวตให้แล้วควบคุมไทยไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น
“คาซัคสถาน” นั้น ได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย
มาตลอด จนทำให้มั่นใจได้ว่าถ้าจีน รัสเซีย ชี้นกเป็นนก ไม่ใช่ชี้นก
เป็นไม้ ทำให้เชื่อว่าจะสนองนโยบายได้อย่างแน่นอน
เรียกว่าพึ่งพาอาศัยกันได้ทุกสถานการณ์
ต้องไม่ลืมจีนนั้น มีปัญหากับประเทศในอาเซียนหลายประเทศกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ทำให้เกิดความขัดแย้งที่ยากจะหาข้อยุติได้
และทำให้ไทยและหลายประเทศกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจนไม่สามารถแสดงท่าที่ได้อย่างเป็นอิสระเพราะนี่ก็เพื่อน นั่นก็ประเทศยักษ์ใหญ่
สุดท้ายก็เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและผลประโยชน์มากกว่า.