เริ่มต้นเดือนใหม่ด้วยข่าวดีๆ สัก 2 ข่าวที่พอจะทำให้ชาวบ้านชาวช่องหายใจหายคอสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการที่สหรัฐอเมริกายกระดับ “เทียร์ 3” ตํ่าสุดมาเป็น “เทียร์ 2” ปัญหา “ค้ามนุษย์”
ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้ปรับระดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ในไทยดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท
ไทยนั้นเป็นประเทศที่มีการส่งออกอาหารทะเลใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
เหตุผลสำคัญก็เพราะไทยมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเอาจริงเอาจัง มีการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ การใช้ระบบติดตามเรือประมงในทะเล การกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์และเครือข่ายและการทำประมงโดยผิดกฎหมาย
เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเป็นผลงานเด่นของรัฐบาล คสช. ที่เป็นรูปธรรมชิ้นหนึ่ง เนื่องจากความเอาจริงเอาจังยกระดับปัญหานี้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันแก้ไขจนสามารถได้รับการยอมรับ
นี่ถ้าเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่
ที่สำคัญก็คือแม้จะดำเนินการแก้ไขได้ดีระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่จะต้องควบคุมดูแลกันต่อไปเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน
ไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งคราวไปพอเสร็จก็ปล่อยปละละเลยจนสุมปัญหาเอาไว้อย่างที่ปฏิบัติกันมา
อันไม่ต่างไปจากเรื่องการบินที่รอดพ้นไฟแดงมาได้
จากนี้ไปเชื่อว่าธุรกิจอาหารทะเลซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของไทยน่าจะดีขึ้นและขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากการยกระดับมาสู่ “เทียร์ 2” ย่อมทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากประเทศต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป เพราะได้รับใบการันตีแล้ว
อีกเรื่องที่น่าจะทำให้เส้นทางการเดินหน้าไปสู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พ้นจากอุปสรรคขวากหนามมาได้อีกขั้นหนึ่ง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 (2) ไม่ขัดต่อ ม.4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57
“ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ถือว่าสอดรับกันได้
ที่คาดการณ์กันต่างๆนานามาก่อนหน้านี้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญจะเกิดความยุ่งยากตามมา
ไม่ว่าจะเป็นไปในทำนองว่าจะต้องยกเลิก พ.ร.บ.ประชามติทั้งฉบับ ไม่ว่าจะต้องตัด ม.61 (2) ออกไป
แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าหากขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากมีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว หรือมี ม.4 ที่นำมาจัดการได้
หรือแม้แต่การจะออกคำสั่ง ม.44 ก็สามารถทำได้
ลงเอยกันได้อย่างนี้แล้วก็ผ่านอุปสรรคไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับ กกต. ซึ่งมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องดำเนินการทุกอย่างให้อยู่ในกรอบนี้
อย่าไปทำอะไรให้มันเป็นเรื่องหรือเละไปกว่าที่ผ่านมาก็แล้วกัน
การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ควรจะอยู่ในลักษณะคิดก่อนพูดไม่ใช่พูดก่อนคิด เดี๋ยวก็จะไปตีความหาเรื่องหาราวกันขึ้นมาอีก
ทางที่ดีเมื่อ กกต.ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงก็ควรจะแสดงบทบาทให้เต็มที่ ส่วนรัฐบาล คสช. กรธ.ก็ควรจะสงบปากสงบคำเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน หรือทำให้เสียบรรยากาศไปเปล่าๆ
ฝ่ายตรงกันข้ามก็จะต้องระมัดระวังไม่ใช่เล่นป่วนเอามันอยู่ข้างเดียว.