นายกฯ สั่ง ศธ.สกัดปมส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ในร่าง รธน. หลังสังคมตีความหลากหลาย ยันรัฐบาลนี้ส่งเสริมมากกว่าของเดิมอีก

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.59 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งให้ชี้แจงกรณีการบรรจุการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ลงในร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมนั้น โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่ได้ระบุว่า รัฐจะต้องจัดการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองขณะนั้น ว่าเขาจะสนับสนุนจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ เป็นเวลา 15 ปี จึงเป็นเหตุให้มาเทียบเคียงกับร่างรัฐรรมนูญฉบับนี้ ที่พูดถึงการศึกษาภาคบังคับ ให้เพียง 12 ปี ซึ่งสังคมไทยจะมองว่าไหนรัฐบาลบอกว่าจะเพิ่มสิทธิให้กับประชาชน ดูแลเรื่องการศึกษาให้กับประชาชนให้มากขึ้น แต่ทำไมจึงลดจำนวนปีลง ซึ่งมีการตีความกันไปหลากหลาย นายกฯ จึงฝากทำความเข้าใจกับประชาชน และสั่งการให้ รมว.ศึกษาธิการ ทำความเข้าใจกับสังคมว่า แต่เดิมเป็นการประกาศนโยบายโดยพรรคการเมื่อง ที่ยังไม่มีอะไรรองรับ ดังนั้นที่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ว่า ให้การศึกษาภาคบังคับ 12 ปี นั้น หมายความว่าอย่างน้อยที่สุดต้อง 12 ปี แต่สามารถเกินกว่านี้ได้ จึงสั่งให้ไปทำกฎหมายให้ชัดเจนว่า เรายังสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 เหมือนเดิม

นอกจากนี้ ในระดับอนุบาล ที่เป็นการศึกษาก่อน ป.1 ก็มีความสำคัญต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโตในวัยเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสังคมมนุษย์ ที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศ ในส่วนนี้รัฐบาลจะดูแลด้วย โดยกระทรวงมหาดไทย จะมีงบที่ใช้จัดการส่วนนี้อยู่แล้ว แต่จะให้กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาร่วมดูแลและช่วยกันดำเนินการตรงนี้ด้วย

...

"ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจแล้วว่า วันนี้ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา  สรุปว่ารัฐบาลชุดนี้ดูแลเยาวชนตั้งแต่ก่อนประถมศึกษา ไปจนกระทั่งถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั่นหมายความว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ได้น้อยไปกว่าเดิม แถมมากขึ้นกว่าเดิม และต้องทำเป็นกฎหมาย ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะไปแล้ว มีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสัญญากับสังคมว่าจะทำทุกอย่างให้ยั่งยืน ต้องเป็นจริง" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว.