เสียงเตือนในทำนองว่าอย่าใช้มาตรการที่ตึงเกินไปต่อการแสดงความคิดเห็นว่าด้วยรัฐธรรมนูญในช่วงก่อนการทำประชามติ วันที่ 7 ส.ค.59 เพราะขณะนี้กำลังเกิดปัญหาความขัดแย้ง จนบานปลายออกไปเรื่อยๆ
แม้ กกต.จะกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหาในเรื่องการ “ตีความ” เนื่องจากถ้อยคำใน พ.ร.บ.ประชามติหลายเรื่องยังมีความกำกวม ไม่ชัดเจนและอาจตีความแตกต่างกันไป
แบบไหนจะเรียกว่า “ปลุกระดม” แบบไหนจะเป็นการโน้มน้าวให้คล้อยตาม เนื่องด้วยกฎกติกาดังกล่าวที่ประกาศใช้นั้น
มันไม่เป็น “ธรรมชาติ” อย่างที่ควรจะเป็น
หากมองในแง่รัฐบาล คสช.คงหวังจะให้การลงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง วุ่นวาย
แต่ต้องการให้ผ่าน “ประชามติ” หรือไม่ ยังไม่แน่ใจ
ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะด้านหนึ่งคงมุ่งหวังเพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติด้วยการสร้างมาตรการและกลไกเพื่อควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด
มองอีกด้านหนึ่งการใช้กฎกติกาที่เข้มข้นอย่างนี้ ทั้งๆที่รู้ดีว่าจะก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งเพราะจะต้องมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยถือว่าเป็นความแตกต่างในความคิดเห็น
เมื่อไม่เห็นด้วยก็ต้องแสดงความคิดเห็นเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไร ทำไมไม่เห็นด้วย
แต่เมื่อมีมาตรการ “ปิดกั้น” ก็เกิดปัญหาอย่างที่เห็นๆอยู่
แม้จะมองว่าฝ่ายที่คัดค้านที่แสดงออกจะเป็นพวกหน้าเก่าๆหน้าเดิมๆ ต้องการให้เกิดความวุ่นวายเพื่อปลุกระดม แต่ต้องไม่ลืมว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ แม้แต่พวกที่สนับสนุน คสช.ก็ยังเกิดความรู้สึกไม่ต่างกัน
ด้วยคำพูดที่ประชดประชันว่า “หากต้องการอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำประชามติ จะเขียนอย่างไร ทำอย่างไรก็ว่ากันมาเลย”
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นให้ดูไปเรื่อยๆ จากวันนี้ไปถึงวันที่ 7 ส.ค.59 คือขั้นตอนหนึ่ง อีก 7 วันที่จะถึงวันลงประชามติ อีกขั้นตอนหนึ่งและหวังลงประชามติแล้วก็อีกขั้นตอนหนึ่งจนกว่า พ.ร.บ.ประชามติจะไม่มีผลบังคับใช้
คสช.เตรียมรับสถานการณ์เอาไว้ได้เลย
การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นกติกาในการปกครองประเทศ
ทำให้ประชาชนทุกคนเกิดความรู้สึกเป็น “เจ้าเข้าเจ้าของ” มีความรู้สึกหวงแหนและช่วยกันปกป้อง ทำให้เกิดการยอมรับ
นั่นคือจุดสำคัญที่เป็นเหตุต้องมีการทำ “ประชามติ”
หากเกิดปัญหาด้วยกฎกติกาอย่างนี้ แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติแต่เกรงว่าปัญหาที่จะตามมาคือการไม่ยอมรับและเกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เฉพาะพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ประชาชนที่ไปใช้สิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็อาจเกิดความไม่พอใจได้
เนื่องจากเห็นว่าการลงประชามติครั้งนี้เหมือนเป็นการบีบบังคับพวกเขาให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ใช่พอใจหรือไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญ
ทางที่ดีควรยึดสายกลาง หรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่มีฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่าคิดถึงมุมมองการเมืองเพียงด้านเดียว
หรือคิดว่าต้องการให้เรื่อง “ไร้สาระ” เป็นเหตุขึ้นมา.