รัฐธรรมนูญปราบโกง“คืนอำนาจ”ครึ่งใบ 5 ปี : วัดใจประชาชน วัดดวงประชามติ
ทีมข่าวการเมือง
3 เม.ย. 2559 05:01 น.
279 มาตรา 16 หมวด
โชว์โฉมกันไปแล้ว ตามคิวที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถือฤกษ์ 13.39 น. วันที่ 29 มีนาคม แถลงสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปทำประชามติ
หรือที่เรียกกัน ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง”
ตามเนื้อหาหลักๆ มุ่งให้ประชาชนใช้สิทธิทางการเมือง ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิระหว่างเพศ โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้กำหนดจริยธรรมและบทลงโทษที่ชัดเจนและมีความรุนแรง
ที่ย้ำกันชัดๆนายมีชัยยืนยันทุกบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนี้มุ่งเน้นประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
เชียร์แขก ขายฝันกันตามฟอร์ม
ตามสถานการณ์จบสิ้นภารกิจ ส่งต่อไม้ให้รัฐบาลคสช. จากนี้ไปนายมีชัยและทีมงาน “21 อรหันต์ทองคำ” ทำได้แค่ลุ้นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะฝ่าด่านประชามติได้หรือไม่
ภายใต้เงื่อนไขที่ยังเต็มไปด้วยตัวแปร
แบบที่ทันทีทันควัน พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” เพราะเห็นว่า เป็นร่างที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย โดยการอ้างเหตุผลประกอบ 9 ข้อ
1.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม
2.ระบบการเมืองและการเลือกตั้งมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ พรรคการเมืองอ่อนแอ รัฐบาลไร้เสถียรภาพก็ไม่อาจที่จะพัฒนาประเทศชาติ โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกที่จะนำไปสู่ปัญหาการเมืองหลายประการ เช่น สร้างระบบเลือกตั้งที่ไม่เคยมีใช้ที่ใดในโลก เอาประเทศและประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อลองผิดลองถูก ซึ่งระบบนี้จะสร้างให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหาร
3.การเพิ่มอำนาจให้ ส.ว. สรรหา ในระยะ 5 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คน ล้วนมาจาก คสช. ทั้งที่ควรจะมาจากประชาชน อีกทั้งยังสามารถลงมติร่วมกับ ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เป็น ส.ส. เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ การปกครองประเทศจึงยังคงเป็นของ คสช. โดยอ้อม
4.เมื่อรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเมือง และเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
5.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอำนาจเหนือรัฐสภาและรัฐบาล
6.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างภาพว่า เพื่อปราบโกง โดยมุ่งสกัดกั้นนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่มิได้ปฏิรูปและวางระบบเพื่อแก้ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงเลยแม้แต่น้อย
7.รัฐบาลชุดนี้ได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อบังคับทางเดิน
8.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำประเทศล้าหลัง จนถึงกับมีบางคนกล่าวเปรียบเทียบว่า อนาคตของไทย คือ อดีตที่ผ่านพ้นมากว่า 20 ปีของพม่า
9.ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในสังคม ความปรองดองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
ตบท้าย เสนอแนะประชาชนให้ร่วมกันออกมาลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ
ตามฟอร์มไม่ได้เหนือความคาดหมาย เป็นจังหวะที่พรรคเพื่อไทย “ตีธง” ตามที่ “นายใหญ่” อย่างอดีต นายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้า
ถือเป็นการแสดงความชัดเจนอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ยังสงวนท่าที ตามลีลาแบบที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์ภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับมีชัย ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยถดถอยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550
โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลที่ยังไม่มีความแน่นอนเรื่องบทบาทของวุฒิสภาที่ส่งผลต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะทำได้ยากขึ้นแต่มีข้อดีเรื่องมาตรการปราบโกงที่ใส่กลไกป้องกันไว้
ที่สำคัญนายอภิสิทธิ์ ได้เรียกร้องให้มีความชัดเจนเรื่องเงื่อนไขกรณีประชามติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะคลายความขัดแย้ง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับคำถามประกอบการทำประชามติ
สรุปเอาเป็นว่า ประชาธิปัตย์ยังดึงจังหวะ “แทงกั๊ก”
รอลูก “เข้าเหลี่ยม” พร้อมออกได้ทุกหน้าที่เข้าทางปืน
ในอารมณ์ของนักการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกติการ่างรัฐธรรมนูญใหม่ เดาทางกันได้ง่ายๆพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายเสียแน่ๆยังไงก็ไม่ยอมรับ
แต่ที่ต้องจับตากันจริงๆ ก็คือท่าทีของรัฐบาล คสช.ในฐานะเจ้าภาพหลักในการเข็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” ผ่านด่านประชามติ
ประเมินกันตามอารมณ์อย่างที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.บ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามพอใจหรือไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย”
ยอมรับแค่ว่า พอใจในส่วนหนึ่งที่เขาสามารถดำเนินการแก้ปัญหาในความเป็นประชาธิปไตยที่เคยผิดพลาด หรือบางอย่างก็มีเรื่องการทุจริต ผิดกฎหมาย หรือเข้ามาสู่การเมืองโดยไม่มีธรรมาภิบาล คณะกรรมการร่างฯก็เขียนมา ซึ่งตนเองก็โอเค ถึงแม้จะไม่ตรงใจตนมากก็ตาม
แนวเดียวกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ก็ออกตัวแค่ว่า ในฐานะที่เป็นประชาชน อะไรที่รับได้ก็รับ อะไรที่รับไม่ได้ก็เก็บไว้ในใจ เป็นธรรมดาที่ต้องมีทั้งเรื่องเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนภาพรวมคิดว่าน่าจะเดินต่อไปข้างหน้าได้
ส่วน “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช.ก็พูดเป็นนัย ถ้านายกฯพอใจ ตนเองก็พอใจ โดยได้ให้ครอบครัวกำลังพลและโครงการ รด.จิตอาสา ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงความสำคัญของการทำประชามติ และความสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
อยากให้ประชาชนรู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญต่อเขาจริงๆเพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับป้องกันการโกง อีกทั้งยังมีมาตรการลงโทษผู้ที่มีอำนาจอย่างจริงจังและเด็ดขาด
จับอาการทีมงาน คสช.ก็เหมือนจะพอใจร่างรัฐธรรมนูญระดับหนึ่ง
แต่ก็ไม่ถึงกับปลื้มเสียทีเดียว
โดยเฉพาะถ้าเทียบกับปรากฏการณ์ที่ คสช.ไม่ได้รับการตอบสนองตามข้อเสนอที่ คสช.และแม่น้ำ 4 สายได้ส่งความเห็นไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกแบบบทเฉพาะกาลในการควบคุมสถานการณ์ช่วงอำนาจเปลี่ยนผ่าน 5 ปี อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
โดนซือแป๋มีชัยกับทีม 21 อรหันต์ทองคำรื้อใบสั่งเหลือแค่พบกันครึ่งทาง
อย่าง ส.ว.สรรหา 250 คน ก็ให้สิทธิ คสช.แค่จิ้มรายชื่อได้ทั้งหมด แต่อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ลากตั้งก็ทำได้แค่ขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูป ไม่มีสิทธิอภิปรายหรือโหวตซักฟอกรัฐบาล
เหมือนมีเฉพาะปริมาณแต่ไร้ฤทธิ์เดช
แน่นอน เมื่อยุทธศาสตร์คุมเกมบนหลังเสือโดนสกัด ภายใต้เครื่องหมายคำถามรัฐบาลทหาร คสช.ยังจะออกแรงเต็มกำลังหรือไม่ในการเข็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” ให้ผ่านด่านประชามติ
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติม ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้เป็นอำนาจของ คสช.ในการดำเนินการ หยิบเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดมาปรับแก้ไข ก่อนนำไปใช้ในการเลือกตั้ง
โดยจังหวะอำนาจจะไหลกลับไปอยู่ในมือ “รัฏฐาธิปัตย์” ออกแบบกติกาได้ดั่งใจ
ไม่ต้องพึ่งจมูกใครหายใจให้ยุ่งยาก
จุดนี้เอง น่าจะเป็นที่มาของอารมณ์ท็อปบูตที่ไม่ซีเรียสเท่าไหร่กับการที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านด่านประชามติหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าไม่ผ่านก็ถือว่าเข้าทาง
อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดชัด ถ้าไม่ผ่านก็เป็นหน้าที่ของตัวเองในการดำเนินตามกระบวนการต่อไปขณะที่ พล.อ.ประวิตรยืนยัน ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องมีการเลือกตั้งตามกำหนดโรดแม็ปในปี 2560 แน่นอน
ผ่านหรือไม่ ก็เหมือนจะไม่มีผลสักเท่าไหร่
ประเมินกันตามสถานการณ์พรรคเพื่อไทยไม่เอาแน่ พรรคประชาธิปัตย์ยังแทงกั๊ก ทหาร คสช.ก็ไม่ซีเรียสกับผลจะผ่านประชามติหรือไม่
ตามเงื่อนไข “กั๊ก” ทำให้ประเมินผลออกได้ทุกหน้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่ก็แค่ประเมินกันตามเงื่อนสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทีมงาน คสช. ประเมินเฉพาะเงื่อนไขของนักการเมืองกับทหารที่อาจยึดโยงอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของใครของมัน ในการชิงเหลี่ยมช่วงชิงเกมอำนาจ
แต่จุดสำคัญมันอยู่ที่ประชาชนคนไทยในฐานะเจ้าของประเทศต่างหาก
ผู้ตัดสินตัวจริงเสียงจริง
ตามนิยามของประชามติก็คือ “การร่วมตัดสินของประชาชน”
เพราะอะไรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีทางจบด้วยความชอบธรรม
และในเมื่อคนไทยได้ผ่านสถานการณ์วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองมานับสิบปี สัมผัสประสบ-การณ์ความเจ็บปวดจากความวุ่นวายที่เกิดจากเกมช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์
ลากจนเศรษฐกิจพังพินาศ สังคมแตกสลาย
ประเทศเกือบเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลว
ถือได้ว่ามี “ความเลวร้ายของการเมือง” เป็นบทเรียนในการตัดสินใจ
เทียบกันระหว่างสถานการณ์ในอดีตกับเงื่อนไขใหม่ในรัฐธรรมนูญปราบโกง “คืนอำนาจ” ครึ่งใบ 5 ปี
ถึงตรงนี้เป็นโอกาสที่คนไทยจะเลือกเดินไปทางไหน
วัดใจประชาชน วัดดวงประชามติ.