คงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดความเห็นต่างกันได้เพราะจะให้ทุกคนเห็นเหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่ง “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและมีผลบังคับใช้กับทุกคนจึงเกิดสถานการณ์อย่างที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้
ยังไงเสียเมื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายหลังจากร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกมานั้นเชื่อว่าคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนแน่
เพราะฟังเสียงคุณมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธาน กรธ.บอกว่า จะรับพิจารณากับข้อเสนอหรือมีการทักท้วงในบางประเด็นจึงต้องนำไปปรับแก้ในช่วงปรับปรุงเนื้อหา
แต่ประเด็นหลักๆน่าจะยืนในหลักการเดิม
ที่น่าสนใจก็คือการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นได้มองถึงภาพรวมปัญหาของประเทศในอดีตได้สรุปไว้ 3 สาเหตุที่ต้องมุ่งปฏิรูปให้ได้และต้องแก้ไขให้สำเร็จ
1.ปัญหาคนขาดวินัย ปัจจุบันมีคนที่คิดถึงสิทธิของตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่น ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปการศึกษาด้วยการกำหนดเป้าหมายการศึกษาคือเป็นคนดี มีวินัย มีใจรักชาติและสามารถเรียนได้จนเกิดความชำนาญตามความถนัด
จะต้องทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี
2.การขาดความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเมื่อคนขาดวินัย ตำรวจมีปัญหาเพราะไม่สามารถทำงานตามภารกิจของตนได้โดยทำงานตามคำสั่งของผู้มีอิทธิพลเหนือตำรวจ ส่วนหนึ่งเป็นการขาดคุณธรรมของการบริหารงานโดยสิ้นเชิง
การแต่งตั้งตำรวจเกิดจากวิ่งเต้นมากกว่าความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง การบังคับใช้กฎหมายจึงหย่อนยาน คนขาดความเคารพในวินัยจึงนำไปสู่การทุจริต
3.ปัญหาการทุจริตหากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปในระยะ 10 ปีประเทศไทยจะหมดตัว ที่ผ่านมามาตรการถอดถอนที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 40-50 นั้น ปรากฏว่าไม่สามารถถอดถอนใครได้เลย
จึงต้องปรับวิธีถอดถอนเป็นคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.เพื่อให้บังคับใช้เมื่อใครขัดคุณสมบัติหรือทำผิดกฎหมายถือว่าต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
หากมีข้อสงสัยให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
การทุจริตจึงต้องเขียนให้ถูกทาง หากทำไม่สำเร็จคิดว่าบ้านเมืองไปไม่ได้แน่และคนจะทะเลาะกันไม่หยุด
รัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดตายตัวไว้ว่าสิ่งใดที่เป็นการทุจริตและคนที่ประพฤติลักษณะทุจริตห้ามยุ่งเกี่ยวการเมืองรวมถึงบางเรื่องที่ไม่มีกฎหมายห้ามแต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ
มีการยกตัวอย่างด้วยว่าบางความผิดที่ศาลตัดสินว่ากระทำความผิด แม้จะไม่ลงโทษจำคุก เช่น ผิดฐานฟอกเงิน ผิดฐานเป็นเจ้ามือการพนัน ผิดฐานค้ายาเสพติด
ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเพราะละเมิดจริยธรรมร้ายแรงที่จะต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และไม่สมควรจะกลับมาอีก
ด้วยเนื้อหาที่ออกมานั้นการจัดการกับการทุจริตจึงเป็นเจตนารมณ์สำคัญ
เมื่อเจตนารมณ์มุ่งไปที่ปัญหาการทุจริต การขาดวินัย การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหาจึงต้องใช้กฎหมายเพื่อการป้องกันและการลงโทษ อีกด้านก็คือ “คน” ในฐานะผู้ใช้อำนาจที่จะต้องคุมเข้มเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
นี่แหละที่... “นักการเมือง” หวั่นไหวมากที่สุด
เพียงแต่ไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้เพราะขืนหยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาโจมตี กรธ.นอกจากจะถูกตอบโต้กลับแล้ว
ยังเท่ากับว่าเป็นการแสดงตัวตนหรือธาตุแท้ออกมาให้สังคมได้รับรู้ว่าจุดยืนของพวกเขาเป็นอย่างไร ปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นก็มาจากพวกเขานั่นแหละ
แต่เอาเรื่อง “ประชาธิปไตย” มาเป็นข้ออ้างเพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญ.