องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้จัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ซึ่งก่อตั้งในประเทศเยอรมนีมีหน้าที่ในการต่อสู้และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทั่วโลก ซึ่งเริ่มจัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา
ปี 2558 ได้มีการสำรวจไปทั้งสิ้น 167 ประเทศ ปรากฏว่าแชมป์เก่าเดนมาร์กยังคงรักษาตำแหน่งไว้ที่ 91 คะแนนเต็มร้อย รองลงมาคือฟินแลนด์ 90 คะแนน สวีเดน 89 คะแนน ทั้ง 2 อันดับคะแนนไม่ต่างกันมากนัก
เกาหลีเหนือและโซมาเลียอันดับบ๊วยสุดเท่ากันคือ 8 คะแนน
ประเทศไทยรั้งอันดับ 3 ของอาเซียนได้ 38 คะแนน คะแนนเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ขยับอันดับโลกดีขึ้นคือที่ 76
“สิงคโปร์” อันดับที่ 8 ของโลก และครองอันดับ 1 ของอาเซียนและเอเชีย
“มาเลเซีย” อันดับ 54 ของโลกมี 50 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 2 คะแนน อยู่ในอันดับ 2 อันดับ 4 คืออินโดนีเซีย อันดับ 5 คือฟิลิปปินส์ เวียดนาม อันดับ 6 และเป็นอันดับที่ 112 ของโลก จากนั้นก็เป็นลาว พม่า กัมพูชา ไล่เรียงกันไป
ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้อันดับโลกจะดีขึ้น แต่คะแนนยังไม่ขยับคือเท่าเดิม นั่นแสดงว่าการทุจริตคอร์รัปชันก็ยังไม่ดีขึ้นมาเท่าใดนัก
แม้ว่ารัฐบาล คสช.จะเน้นหนักในการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง แต่ก็ยังคงทำได้ไม่เต็มที่จนทำให้อันดับคะแนนยังคงที่
แสดงว่า “คอร์รัปชัน” ยังเป็นปัญหารากเหง้าที่จะต้องแก้ไขกันอย่างบูรณาการ ทั้งด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายจะต้องเข้มข้นมากกว่าที่ผ่านมา
แม้แต่ในยุคนี้ที่ คสช.มีอำนาจเต็มๆก็ยังไม่สามารถจัดการให้อยู่หมัดได้ อันเป็นเครื่องฟ้องว่าคนที่คิดทุจริตไม่ได้เกรงกลัวแต่อย่างใด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯและหัวหน้า คสช.ที่บริหารประเทศอยู่นั้น แม้ว่า “หัวไม่ส่าย แต่หางยังกระดิกอยู่”
น่าจะลองสำรวจตรวจสอบให้ลึกลงไปอีก ดูซิว่าใครเป็นใครบ้างที่ยังไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ เพื่อน พ้อง น้อง พี่และข้าราชการเพื่อจะได้จัดการให้เด็ดขาด
มีกระบวนการขับเคลื่อนที่เด่นชัดในการปราบปรามทุจริตก็คือ ร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้ให้สมญาว่า “ป้องกันและปราบปรามคนโกง”
เพราะเท่าที่พิจารณาจากเนื้อหาแล้ว มีการเน้นหนักไปที่ “นักการเมือง” เป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่การเมืองที่มีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการตรวจสอบภาษีย้อนหลังอันเป็นการเริ่มจากต้นน้ำเลยทีเดียว
การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองก็มีมาตรการตรวจสอบ การใช้งบประมาณแผ่นดินก็ไม่ต่างกันและยังมีบทลงโทษที่รุนแรง
นักการเมืองที่เคยกระทำความผิดทั้งการทุจริต การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเล่นการเมืองได้
แม้แต่นโยบายของพรรคการเมืองก็มีบทบัญญัติที่ป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นการหลอกลวงประชาชนเพื่อหวังคะแนนเสียงและการทุจริตจากนโยบายนี้
ถ้าเอาจริงเอาจังกันตั้งแต่ต้น จะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่ต่างกันก็คือ การบังคับใช้กฎหมายเพราะเป็นต้นตอหนึ่งที่ทำให้เกิดการทุจริตไปทุกระดับ
“ตำรวจ” ในฐานะผู้รักษากฎหมาย หากปล่อยให้เป็นไปอย่างทุกวันนี้ ไม่มีทางแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้
เพราะ...นี่แหละคือต้นตอของปัญหาที่จะต้องปฏิรูปในทันที.