วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยคำว่า “รากหญ้า” กันดีกว่านะครับ วันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.นายกรัฐมนตรี ไปพูดเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา สร้างอนาคตประเทศไทย” ตอนหนึ่งท่านบอกว่า “ต่อไปนี้ ขออนุญาตใช้มาตรา 44 ห้ามเรียกว่า “คนรากหญ้า” แต่ให้เรียกว่า “คนมีรายได้น้อย” เพราะต้องยกระดับเขาให้ได้ วันนี้บ้านเมืองเราไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ไม่มีอำมาตย์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น”

สื่อก็ไปพาดหัวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้ ม.44 ห้ามคนเรียก คนรากหญ้า

เล่นเอา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ต้องรีบออกมาแก้ข่าวว่า นายกฯพูดเล่น เป็นมุก ต้องการให้ฟังสนุกสนาน และหาว่าสื่อไม่มีอารมณ์ขัน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ความจริงสื่อไม่ได้เข้าใจผิด คนอ่านก็ไม่มีใครเข้าใจผิด แต่โฆษกท่านซีเรียสกับข่าวพาดหัวมากไปหน่อย เลยตื่นเต้นและเข้าใจผิดไปเอง

คำว่า “รากหญ้า” มาจากคำว่า Grass Roots ในภาษาอังกฤษมีนัยทางการเมืองหมายถึง ประชาชนธรรมดาทั่วไปในระดับท้องถิ่น ที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง ไม่ได้หมายถึงคนยากจนแต่อย่างใด ผู้บัญญัติศัพท์ Grass Roots คือ คุณอัลเบิร์ต เบเวอร์บริดจ์ วุฒิสมาชิกรัฐอินเดียนา สหรัฐฯ ในปี 1912 โดยกล่าวถึง พรรคก้าวหน้า ของตัวเองว่า “พรรคนี้มาจากรากหญ้า เติบโตจากดินแห่งความต้องการอย่างแรงกล้าของประชาชน”

ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ มีการใช้คำนี้มาก หมายถึงประชาชนระดับล่างของสังคมไทย เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้อาศัยในต่างจังหวัด ต่อมาได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนคำเรียก “รากหญ้า” เป็น “รากแก้ว” มีการจัดนิทรรศการ “เหลียวหลังแลหน้า จากรากหญ้าสู่รากแก้ว”

...

ในสมัยปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.ก็พยายามที่จะเปลี่ยนคำเรียกขาน “รากหญ้า” เป็น “รากแก้ว” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

จนมาถึงยุคของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ก็อยากให้เปลี่ยนคำเรียก “รากหญ้า” เป็น “คนมีรายได้น้อย” ก็ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่ เว้นแต่จะใช้อำนาจ ม.44 บังคับจริงๆเรื่องของภาษา ดูกันที่การสื่อความหมายเป็นหลัก หากไม่ใช่เป็นคำที่ดูถูกดูแคลน แต่เป็นคำที่สะท้อนถึงความเป็นจริงของสังคมที่เป็นอยู่ ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร เพราะความหมายของ “รากหญ้า” กับ “คนมีรายได้น้อย” ในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย

สิ่งที่ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ นายกรัฐมนตรีปฏิรูป ควรจะให้ความสนใจก็คือ “เส้นแบ่งความยากจน” ของคนไทยวันนี้และในอนาคต ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เขาเกิดความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างที่รัฐบาลประกาศอยู่ทุกวัน

จากข้อมูล “ตัวชี้วัดความยากจน” ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติอันล้าหลัง เพราะวันนี้ปลายปี 2558 เข้าไปแล้ว แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติเพิ่งมีตัวเลขปี 2553 ล้าหลัง ปัจจุบันไป 5 ปี แต่ก็จำเป็นต้องอ้างอิง เพราะไม่มีข้อมูลอะไรให้อ้างอิงเลย พบว่า

คนไทยมี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในปี 2553 อยู่ที่ 5,176 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 ในปัจจุบันที่ตกเดือนละ 9,000 บาท (ถ้าทำงาน 30 วันต่อเดือน) เมื่อแยกเป็นภาคก็พบว่า กรุงเทพมหานคร มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนสูงสุด 8,714 บาท ภาคกลาง มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือน 5,470 บาท ภาคเหนือ มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือน 4,089 บาท ภาคอีสาน มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือน 3,770 บาท ภาคใต้ มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือน 5,265 บาท

คนเหล่านี้คือ รากหญ้า หรือ คนมีรายได้น้อย ที่ผมอยากให้ นายกฯตู่ แยกคนเหล่านี้ออกมาให้ชัดเจนว่ามีอยู่กี่คน โดยใช้เส้นแบ่งความยากจนนี่แหละเป็นตัวแบ่ง

แล้ว รัฐบาลบิ๊กตู่ ก็หามาตรการ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือเส้นความยากจน แทนที่จะ “ช่วยแบบเหวี่ยงแห” เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ก็ฟรีกันหมดในปัจจุบัน ประเทศไทยจะได้พ้นจาก “กับดักความยากจน” เสียที.

“ลม เปลี่ยนทิศ”