แนวคิด สปช.บางคนที่ต้องการให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อไป หรืออย่างน้อยก็จะขยายเวลาโรดแม็ป ไปเลือกตั้งในกลางปี 2560 ถูกวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเบรก ว่าไม่สามารถนำมาผูกโยงเป็นความเห็นของ คสช.และรัฐบาล ที่จะต้องทำตามโรดแม็ป
3 ระยะ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดไว้ ซึ่งก็คาดว่าจะมีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญกันประมาณ 10 ม.ค.ปีหน้า
ส่วนข่าวการคว่ำรัฐธรรมนูญในที่ประชุม สปช.ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะส่งให้ สปช.ลงมติในเดือน ก.ย.นี้นั้น ตามตารางเวลา หากลงมติรับร่างฯในเดือน ก.ย.ผ่านประชามติเดือน ม.ค. จะใช้เวลาทำกฎหมายลูก ส่งให้ สนช.พิจารณาอีก 3 เดือน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 1 เดือน แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 3 เดือน
ก.ย.ปีหน้าถึงจะมีการเลือกตั้ง
แต่ถ้า คว่ำรัฐธรรมนูญใน สปช. กรรมาธิการยกร่างฯจะใช้เวลาอีก 6 เดือน ลงมติอีก 4 เดือน ทำกฎหมายลูกส่งให้สนช.อีก 9 เดือนจึงจะมีการเลือกตั้ง
ที่คาดว่าจะเป็นเดือน เม.ย.ปี 2560
ดังนั้น แนวคิด สปช.ที่ต้องการคว่ำรัฐธรรมนูญเพื่อต้องการให้รัฐบาลอยู่ต่อไป สอดคล้องกับแนวคิดของ กปปส. โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้เตรียมสภายกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ไว้จำนวน 21 คน ให้มีการตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป จำนวน 200 คน มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี
จะว่าไม่สอดรับกับ คสช.และรัฐบาลเสียทีเดียวเลยก็ไม่ได้
ยิ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ออกมาอ้างเสียงส่วนใหญ่หนุนปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ก็ต้องย้อนอดีตไปถึงเวที กปปส. ที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมา
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ละครต้องมีตอนจบ
วิกฤติการเมืองที่ฝังรากลึก เชื่อมโยงโครงข่ายเป็นร่างแห พันธนาการการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย จนไม่สามารถจะผ่าทางตันได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง
การแสวงหาอำนาจของ คนกลุ่มหนึ่ง เปลี่ยนแต่ตัวละคร แต่ไม่เคยเปลี่ยนวิธีการ อยู่ที่ใครจะเป็นหมากบนกระดาน ใครจะเป็นเหยื่อล่อ
ต่อให้ คสช.มีเจตนาดีแค่ไหน แต่ไม่ขจัดสิ่งที่รกรุงรังของระบอบประชาธิปไตย ไม่สร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ การปฏิวัติแต่ละครั้งก็จะกลายเป็นหนทางฉกฉวยอำนาจของกลุ่มคนที่ไม่ศรัทธาระบอบประชาธิปไตยไปฉิบ.