ฤดูกาลเปลี่ยนไปตามวงรอบของปี
เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนย่อมหมายถึงการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน เต็มตัว
แต่ปีนี้เกิดขัดข้องทางเทคนิค ฤดูฝนมาช้ากว่าปกติประมาณ 1 เดือน ทำให้ “พลเมืองไทย” ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินต้องเผชิญอากาศร้อนระเบิดระเบ้อต่อไปอีก 30 วัน
สรุปภาพรวมปีนี้ จังหวัดกาญจนบุรีครองแชมป์ร้อนสูงสุด 42.7 องศาเซลเซียส
รองชนะเลิศอันดับ 1 ทำสถิติร้อนทะลักเดือด 42.3 องศาเซลเซียส คือจังหวัดตาก
รองชนะเลิศอันดับ 2 ทำสถิติร้อนตับแล่บ 41.2 องศาเซลเซียส คือจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดบุรีรัมย์
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า กรุงเทพฯสะดือประเทศไทยวัดความร้อนสูงสุดปีนี้อยู่ที่ 38.4 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง
แสดงว่าปีนี้มวลมหาประชาชนชาว กทม.เจอคลื่นความร้อนน้อยกว่าปีก่อน 1 องศาเซลเซียสโดยประมาณ
ถ้ามองแง่ดี การที่เมืองไทยต้องเผชิญอากาศร้อนจัดระดับนี้ ยังไม่ร้อนสยองขวัญเท่าอินเดีย (47.6 องศาเซลเซียส) ที่มีผู้เสียชีวิตเพราะร้อนตายไปแล้วกว่า 2,000 ราย
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า ไม่เฉพาะอินเดียประเทศเดียว ทุกประเทศในเอเชียต้องเผชิญอุณหภูมิร้อนจัดทั่วหน้ากัน
แสดงว่า ผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน ทำให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
เลวร้ายหนักขึ้นทุกปี
สำหรับบ้านเรา ผลจากภาวะโลกร้อนทำให้คนไทยต้องเผชิญช่วงอากาศร้อนจัดยาวนานกว่าเดิม
จากที่เคยร้อนตับแล่บปีละ 30 วัน จะร้อนจัดนานขึ้นเป็นปีละ 60 วัน
ปล.ยาขมน้ำเต้าทองแก้ร้อนในกระหายน้ำดีนักแล
“แม่ลูกจันทร์” สรุปแบบข้ามช็อตว่า วิกฤติโลกร้อนจะมีผลกระทบต่อคนไทยทั่วประเทศ 65 ล้านคน 4 ประการคือ
1, จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยขยับสูงขึ้นปีละ 1 องศาเซลเซียสโดยประมาณ
2,จะทำให้การเปลี่ยนผ่านฤดูกาลแปรปรวนไม่อยู่กับร่องกับรอย
3,จะทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยลดลงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์
4,จะเกิดผลกระทบการกักเก็บน้ำสำรองของประเทศระยะยาว
เพราะเมื่อฝนไม่ตกตามฤดูกาล ความสามารถในการเก็บสำรองน้ำต้นทุนลดลง
ย่อมกระทบถึงการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมกระทบต่อการคมนาคมทางน้ำ การรักษาระบบนิเวศน้ำจืด-น้ำเค็ม
และกระทบต่อความต้องการใช้น้ำบริโภคของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยที่ นายกฯ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแผนป้องกันวิกฤติน้ำขาดแคลน
เพื่อแก้ปัญหาปริมาณน้ำสำรองของประเทศที่ลดลงทุกปี
ล่าสุด เตรียมจะลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินผ่านจังหวัดตากเพื่อเติมน้ำสำรองในเขื่อนภูมิพล
โดยการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ผันน้ำยาว 70 กม. เพื่อดึงน้ำสาละวินเข้ามาเติมเขื่อนภูมิพลอีก 4,000 ล้านลบ.เมตรต่อปี
“แม่ลูกจันทร์” เห็นว่า การก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำสาละวิน ระยะทาง 70 กม.ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลบานตะไท
ทั้งๆที่แม่น้ำยมของเราทั้งสายกลับปล่อยน้ำไหลลงทะเลไปฟรีๆ
ทำไมรัฐบาลไม่ (กล้า) ตัดสินใจสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยม ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยกว่าสร้างอุโมงค์ยักษ์ยาว 70 กม. เท่าตัว
แถมเก็บสำรองน้ำได้มากกว่า 6,000 ล้าน ลบ.เมตรต่อปี
อืมม์...มันก็แปลกดีนะโยม.
“แม่ลูกจันทร์”