วันนี้ตรงกับ วันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันของผู้ใช้แรงงานสากลทั่วโลก เริ่มต้นจากกองกรรมกรในปี 2477 จนกระทั่งมาเป็นกรมแรงงานในปี 2508 และเป็นกระทรวงแรงงานในปัจจุบัน
ในอดีต กรรมกร รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน มีพลังที่จะต่อรองกับนายจ้างและรัฐบาล โดยเฉพาะบางยุคบางสมัย เข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยซ้ำไป
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีผู้นำกรรมกรที่มีชื่อเสียงมากมาย นักการเมือง พรรคการเมือง ให้การสนับสนุนเพื่อเป็นฐานเสียงและแรงขับเคลื่อนทางการเมือง
เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในอดีต ทำให้สถานภาพของสหภาพแรงงานหรือผู้ใช้แรงงาน ค่อยๆถูกลดทอนอำนาจลง สมัยที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นมาเป็นนายกฯ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แทบจะถูกสลายจนหมด และไม่มีพลังพอที่จะขับเคลื่อนต่อไป
มุมมองของผู้ใช้แรงงานนั้นมีทั้งบวกทั้งลบ แรงงานคือผู้สร้างชาติ ในขณะเดียวกันกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานก็มีส่วนในการชี้ชะตาเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน
เพราะแรงงานก็คือ ส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องประสบอยู่ในขณะนี้ก็คือ ค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมและการค้ามากขึ้น ก็ต้องมีการลดต้นทุนการผลิตเป็นธรรมดา หนึ่งในปัจจัยของการลดต้นทุนก็คือ การลดจำนวนแรงงานและค่าแรง
เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ไม่ว่าประเทศไหนสายการผลิตก็จะมุ่งไปสู่แหล่งต้นทุนแรงงานที่ถูกก่อนเสมอ มีคนวิจารณ์รัฐบาลชุดที่แล้วว่า เพราะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศนี่แหละ เลยทำให้ อุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
ประเทศเวียดนามใช้ยุทธศาสตร์ดึงค่าแรงขั้นต่ำเอาไว้ เพื่อที่จะจูงใจให้นักลงทุนใช้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาเรื่องของ แรงงานฝีมือตามมา ทำให้การผลิตจะเป็นอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยสูงนัก ทำให้ความรู้เรื่องของเทคโนโลยีการผลิตไม่ได้ถูกนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
การพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ความรู้ ฝีมือและประสบการณ์ จะเป็นแรงจูงใจในการลงทุนจากต่างชาติ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานอีกทางหนึ่งด้วย
ค่าแรงขั้นต่ำจะ 300-400 บาท ความจริงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการลงทุน ถ้าคุณภาพของสินค้าที่ผลิตออกมามีมูลค่าสูง ใช้เทคโนโลยีที่สูง และมีความต้องการจากตลาดในอัตราที่สูง
การพัฒนาฝีมือแรงงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าจะมาเถียงกันว่า ค่าแรงควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ กลุ่มทุนที่ผูกขาดมักจะใช้วิธีพื้นฐานในการบริหารธุรกิจ กดค่าแรงให้ต่ำ ใช้งบการลงทุนให้น้อยเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด
เป็นการกดขี่แรงงานที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้.