ที่สุดก็มีการยกเลิก “กฎอัยการศึก” ไปเรียบร้อยและงัด ม.44 ที่นำไปปรับโฉมในเรื่องของการใช้อำนาจเสียใหม่ด้วยการผสมผสาน หากเป็นเรื่องปกติ ตำรวจก็รับผิดชอบไป หากเป็นเรื่องความมั่นคง ทหารก็จะใช้อำนาจนี้
หัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้ใช้อำนาจเต็มๆ เพราะกฎหมายกำหนดให้เอาไว้อย่างนั้นเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบ
ศาลทหารจะทำคดีด้านความมั่นคงโดยตรง แต่จะขยายออกเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ไม่ต่างไปจากระบบศาลตามปกติ
แต่ต้องยอมรับมีเสียงคัดค้านค่อนข้างดังกระหึ่ม
แน่นอนว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกครั้งนี้ แม้จะถูกต่อต้าน แต่ คสช.คงมองว่า ไม่ว่าจะใช้กฎหมายอะไรก็ค้านกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก ม.44 หรือจะออกกฎหมายอะไรมาใช้ก็ไม่ต่างกัน
ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่า คสช.มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายฉบับนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในด้านความมั่นคง เพราะเมื่อเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองอย่างนี้ก็ต้องมีเครื่องมือในการจัดการปัญหาต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์ยํ้าว่า จะไม่ใช้อำนาจไปทำลายใคร จะใช้อย่างสร้างสรรค์
สิ่งที่มีความจำเป็นในการยกเลิกกฎอัยการศึกก็เพื่อต้องการให้เกิดบรรยากาศที่ดีในประเทศ โดยเฉพาะป้องกันไม่ให้เกิดแรงเสียดทานจากนานาชาติ และมีผลต่อเศรษฐกิจการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้นคงประเมินจากสถานการณ์การเมืองของประเทศในจังหวะก้าวต่อไป เพราะเชื่อว่าขบวนการต่อต้าน คสช.จะเข้มข้นมากขึ้น
อ่านเกมการเมืองแล้ว ฝ่ายต่อต้าน คสช.คงจะเปิดเกมรุกอย่างต่อเนื่อง ยิ่งระยะอีกไม่นานจะมีการพิจารณาคดีรับจำนำข้าว ซึ่งอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือจำเลยสำคัญและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง
พูดง่ายๆว่ายิ่งใกล้เวลา ยิ่งต้องเคลื่อนไหวมากขึ้น
จึงเป็นเรื่องที่ คสช.จะต้องเริ่มเกมรุกไม่ใช่ตั้งเกมรับอย่างที่ผ่านมา เพราะเท่ากับสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นไปของบ้านเมือง
“ทหาร” จึงต้องใช้อำนาจอย่างเต็มๆ
เพื่อเป็นการป้องปรามและยังสามารถสั่งการในการใช้อำนาจได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีขั้นตอนอย่างกฎอัยการศึกที่ซับซ้อน
เหนืออื่นใดการใช้อำนาจ ม.44 นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นสำคัญว่าจะใช้อำนาจให้เป็นไปเพื่อความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
ประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ เมื่อ คสช.เข้ามาคุมอำนาจด้วยหวังว่าจะแก้ไขปัญหาของประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง ความขัดแย้ง การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน
แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ส่อเค้าว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดขึ้นมาอีก เพราะมีผลต่อความมั่นคงอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะจากนักการเมืองที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปตามความต้องการของพวกเขา
พูดง่ายๆก็คือเข้าสู่วงจรเดิม
นั่นจึงเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องใช้ “อำนาจพิเศษ” เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ด้วยการจัดการอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว
ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องมีการสะสางและแก้ไข หากทำงานกันอย่างปวกเปียกหวั่นไหวก็คงไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย
ทำนองว่าจำเป็นต้องทำความสะอาดบ้านเมืองในทุกมิติ.