‘ศรีสุวรรณ’เจ้าเก่าลุย จะให้เป็นบรรทัดฐาน ‘บวรศักดิ์’ฮึ่มสื่ออคติ
“เทียนฉาย” นัด สปช.โหวตลับเลือก กมธ.ยกร่างฯ แทน “ทิชา” กลุ่มสตรีกดดันยืนกรานขอโควตา 50-50 เปิดศึกตะลุมบอนแย่งเก้าอี้ กันฝุ่นตลบ สายสตรีเสียงแตกลงแข่งหลายคน ชื่อ “กอบศักดิ์” จากสายเศรษฐกิจมาแรง “บวรศักดิ์” ย้ำไม่มีปมคาใจกับ “ทิชา” ฉุนขาดขู่จัดหนักสื่อที่มีอคติ สปช.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ตั้งสมัชชาคุณธรรม “พลเดช” ฟุ้งไม่ใช่เสือกระดาษแน่ พท.ปลุกประชาชนคว่ำร่างฯ ไม่เชื่อข้ออ้างให้พลเมืองเป็นใหญ่ ปชป. สวดยับเบี่ยงเบนหลักประชาธิปไตย “หลวงพี่เทพ” ไม่แคร์ที่มานายกฯ หนุน คสช.สุดตัว สนช.ฉาวซ้ำใช้ข้าราชการทำงานแทนลูก-เมีย “พีระศักดิ์” แก้ตัวแทนสถานที่จำกัดเลยทำงานผ่านโซเชียล “ศรีสุวรรณ” ชง ป.ป.ช.สอบผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดหลักการ คสช. “อำนวย” เมินกระแสโดนเขี่ยพ้น ครม.
จากปมขัดแย้งในประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งนางทิชา ณ นคร ยื่นใบลาออกจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุดนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. นัดประชุม สปช. เพื่อลงคะแนนลับเลือก กมธ.ยกร่างฯคนใหม่แทนนางทิชา วันที่ 3 มี.ค.
นัดโหวตลับเลือก กมธ.ยกร่างฯ
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระนายเทียนฉายแจ้งต่อที่ประชุมว่า นางทิชา ณ นคร สปช. มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิก สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. ทำให้ตำแหน่งว่างลง ดังนั้น จะมีการคัดเลือกสมาชิก สปช.มาเป็น กมธ.ยกร่างฯแทนนางทิชา ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ลาออก คือไม่เกินวันที่ 16 มี.ค. ดังนั้น ที่ประชุม สปช.ต้องดำเนินการคัดเลือกวันที่ 3 มี.ค.นี้ โดยให้สมาชิกเสนอชื่อบุคคลและต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คน จากนั้นจะดำเนินการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับเลือกเป็น กมธ.ยกร่างฯต่อไป
...
สปช.ผ่านร่างสมัชชาคุณธรรม
จากนั้นที่ประชุมเริ่มพิจารณารายงานการศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล เป็นผู้รายงานเสนอต่อที่ประชุม ถึงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 217 ต่อ 10 เสียง พร้อมทั้งเห็นชอบให้นำความเห็นและข้อสังเกตของสมาชิก สปช. ไปประมวลปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะเสนอให้ ครม.และสนช.ต่อไป
กลุ่มสตรีกดดันขอโควตา 50–50
ขณะที่ น.ส.สุธีรา วิจิตรานนท์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี พร้อมกลุ่มสตรีที่ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปี 2558 เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านนายมีชัย วีระไวทยะ และนางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ ขอให้ผลักดันสัดส่วนผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชายในทุกระดับสัดส่วน 50 ต่อ 50 เพราะปัจจุบันผู้หญิงมีจำนวนประชากรมากกว่าผู้ชาย จึงขอให้ช่วยผลักดันสิทธิสตรีไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย นางถวิลวดีกล่าวว่า ปัจจุบันเปิดให้สตรีเข้ามาทำงานการเมืองในสัดส่วนการลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นจะเป็นการเปิดศักราชใหม่หาก กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.จะให้ความสนใจและผลักดันเรื่องสิทธิสตรี
“บวรศักดิ์” ย้ำไร้ปมคาใจ “ทิชา”
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พาดหัวข่าวทำให้คนเข้าใจว่าตนเป็นสาเหตุสำคัญให้ นางทิชาลาออก ทั้งที่ความจริงสนับสนุนสิทธิสตรีมาตั้งแต่ต้น และพยายามรอมชอม แต่เมื่อคนส่วน ใหญ่ว่าอย่างไร กมธ.ข้างน้อยก็ต้องยอมรับ นางทิชาพูดในที่ประชุมและกับตนส่วนตัวมาตลอดว่าทำหน้าที่ดีที่สุดตามกำลังความสามารถ ผู้ที่ตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือนางทิชา จึงไม่ขอวิจารณ์ เพราะทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง แต่ตอนเข้ามาเป็น สปช.และ กมธ.ยกร่างฯก็สมัครใจเข้ามา เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่า เครือข่ายสตรีทั่วประเทศจะกดดัน กมธ.ยกร่างฯ นายบวรศักดิ์ตอบว่า เป็นธรรมดาต้องถูกกดดันโดยทุกฝ่ายอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติ อย่าไปสะดุ้ง เรารับ ฟังเอาไว้ แล้วนำมาดูกันอีกทีไม่มีปัญหา การมีบทบัญญัติเช่นนี้เป็นความก้าวหน้าที่เราอาจไปไกลกว่าหลายประเทศในโลกที่มาสอนประชาธิปไตยเรา
รอจัดหนักสื่อนำเสนอมีอคติ
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่มีเขียน ออสเตรเลียถือเป็นแค่ทางปฏิบัติ แต่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นไม่มีการกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในรัฐธรรมนูญ ถ้าเรามีจะเป็นความก้าวหน้าระดับโลก โดยเขาเสนอไว้สัดส่วนสตรีเป็น 1 ใน 3 ของสภาท้องถิ่น หากเรายึดสปิริตการทำงานเป็นหมู่คณะ ส่วนใหญ่ว่าอย่างไรก็รับมตินั้นก็จบ อย่างไรก็ตาม มีคอลัมนิสต์คนหนึ่งในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เขียนวิจารณ์ตนทำให้เห็น 3 เจตนา คือ 1. ใส่ชื่อและรูปภาพตนในคอลัมน์ 2.ใส่เครื่องหมายคำพูด ดูถูกประชาชนชาวไทย 3. ทำให้เข้าใจว่า ตนกล่าวดูถูกเหยียดหยามคนไทยส่วนใหญ่ แม้กรรมการผู้จัดการบริษัทจะโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงแบ่งรับแบ่งสู้ และแสดงทัศนะส่วนตัวที่มีอคติ ไม่ใช่วิสัยของสื่อสาธารณะ เมื่อถามย้ำว่าจะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่ นายบวรศักดิ์ตอบว่า ไม่อยากพูดเดี๋ยวจะหาว่าขู่ แต่คิดว่าต้องมีบทเรียนกันบ้าง แต่จะไม่กระทบกับสื่อมวลชนทั่วไปที่ยังทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วน ปราศจากอคติ “อย่าไปพาดหัวว่า “บวรศักดิ์” จะขู่ฟ้อง ต้องตอบว่ากำลังพิจารณา”
“วิษณุ” ยันหายไปหนึ่งไม่กระทบ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวว่า นางทิชาเป็นโควตา 1 ใน 20 ของ สปช. โดย สปช.ต้องเลือกกันเองจะเอา ใครมาแทน ไม่ทราบตกลงกันอย่างไร ใช้วิธีไหน ระหว่างเลื่อนลำดับที่ 21 ขึ้นมาหรือเลือกใหม่ แล้วแต่สปช.ตัดสินใจ แต่ต้องตั้งโดยเร็ว ส่วนที่ว่างใน สปช. อาจไม่จำเป็นต้องตั้งเลยก็ได้ อยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณา เข้าใจว่าขาดไป 1 คน คงไม่กระทบงานเท่าไร เมื่อถามว่า ห่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่เพราะเริ่มมีความขัดแย้งกัน นายวิษณุตอบว่า รู้สึกและมีความคิด เพียงแต่ไม่อยากพูดอะไรตอนนี้ ยิ่งพูดมากยิ่งขัดแย้งมาก แต่ดูอยู่เมื่อถามเรื่องการทำประชามติ นายวิษณุตอบว่า หาก คสช.เห็นควรต้องทำประชามติ ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ดังนั้น อำนาจอยู่ที่ คสช.จริง แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วย เป็นอำนาจ สนช. เรื่องนี้มี 2 ขยัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางทิชาแจ้งว่าจะมีการแถลงเปิดใจกรณีการลาออกจากทุกตำแหน่งในวันที่ 3 มี.ค. เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา
สมัชชาคุณธรรมไม่ใช่เสือกระดาษ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป กล่าวว่า หลังที่ประชุมสปช.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ คาดว่า สนช.จะใช้เวลา 3 เดือนในกระบวนการตราเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ เชื่อว่าสมัชชาคุณ– ธรรมจะไม่ใช่แค่เสือกระดาษ เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าการตั้งสมัชชาคุณธรรมเพื่อทำตามความต้องการของนายเทียนฉาย ให้ยุบผู้ตรวจการแผ่นดินรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นพ.พลเดชตอบว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่านายเทียนฉายไม่เกี่ยวข้อง เพราะนายเทียนฉายอยู่ในฐานะประธานกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) แต่มองในหลักการว่า แม้หน้าที่ของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะคล้ายคลึงกับผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ลักษณะโครงสร้าง และการทำงานมีความเข้มแข็งมีคุณภาพมากกว่า โดยเฉพาะความมีอคติในการตัดสินใจ หากผู้ตรวจการแผ่นดินยังคงมีอยู่ เชื่อว่าจะเสริมงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติก็สามารถประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นได้
สปช.ตะลุมบอนแย่งเก้าอี้ฝุ่นตลบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายเทียนฉายนัดประชุม สปช. วันที่ 3 มี.ค. เพื่อเลือก กมธ.ยกร่างฯ แทนนางทิชาที่ลาออกไป ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเสนอตัวหลายคน อาทิ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สปช. และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ สปช. ชุดปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สปช.สายเศรษฐกิจ ที่เดินสายล็อบบี้ขอคะแนนเสียงจากเพื่อน สปช.อย่างหนัก ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจาก สปช.ในระดับหนึ่ง
ขณะที่กลุ่ม สปช.สายสตรี ก็เคลื่อนไหวเพื่อรักษาโควตาเดิมของนางทิชา แต่เสียงยังแตกอยู่ เพราะมีผู้เสนอตัวหลายคน อาทิ นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และนางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สปช.เชียงใหม่
“กอบศักดิ์” สายเศรษฐกิจมาแรง
พล.ท.ฐิติวัฒน์ กำลังเอก สปช. กล่าวว่า จะเสนอชื่อนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ต่อที่ประชุม สปช. เพราะต้องการให้มีคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยวางโครงสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ขณะนี้มีสมาชิก สปช.ร่วมรับรองและสนับสนุนแล้ว
พท.ปลุกประชาชนคว่ำร่างฯ
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อยากฝากถึงประชาชนว่าถ้าเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่จำเป็นต้องโหวตรับร่าง ผู้มีอำนาจจะได้กลับไปแก้ไขจนกว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องรับร่างเหมือนร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ที่สุดฝ่ายหนึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อีกฝ่ายแก้ไขไม่ได้และกำลังจะถูกสนช.ถอดถอน ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างกันอยู่ หากศึกษาให้ดีจะเห็นชัดเจนว่าต้องการให้พรรค การเมืองอ่อนแอ การจัดตั้งรัฐบาลเต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่คำนึงถึงอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น นับจากนี้ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับเนื้อหาในร่าง อย่าไปหลงเชื่อใครง่ายๆ เมื่อมีการทำประชามติขอให้ประชาชนเฝ้าระวังกลโกงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ไม่เชื่อข้ออ้างพลเมืองเป็นใหญ่
นายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ กมธ.ยกร่างฯพยายามชี้แจงว่า เจตนารมณ์การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้บ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 4 ทิศทาง คือ พลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมเป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข แต่การเขียน การทำ และการพูด ของอดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่าง รัฐธรรมนูญปี 50 และเป็นอดีตทีมผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ว่ากันว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด ช่างแตกต่างกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย การบอกว่าให้ประชาชนเป็นใหญ่คงไม่ใช่ เพราะที่เขียนออกมาเช่น 1. ให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกโดยตรง 2. นายกฯเป็นคนนอกได้ จะพูดอย่างไรก็พูดได้ แต่ในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน รู้สึกสัมผัสได้ว่าประชาชนเขาไม่เชื่อ และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปตาม 4 ทิศทางที่อ้างมา วันนี้ประเทศอาจจะสงบ แต่ไม่มีความสุขหรอก
“หลวงพี่เทพ” ไม่แคร์ที่มานายกฯ
ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พระสุเทพ ปภากโร กล่าวประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ให้นายกฯมาจากคนนอกได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ 1. พวกมีกิเลสมาก หรือพวกอยากได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ 2. พวกขี้ขลาด อยู่ด้วยความกลัว มีวิตกจริต กลัวเพื่อนมาทำร้าย เลยทำร้ายเพื่อนก่อน อย่าทำ จุดยืนของคนอาจแตกต่างกันไป ตอนเป็นเลขาธิการกลุ่ม กปปส. บอกแล้วว่าประชาชนต้องการเห็นความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติ ดังนั้นอย่าเอาทฤษฎีของต่างชาติ ทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา มาอ้าง แต่ขอให้เอาปัญหาและข้อเท็จจริงที่จะทำให้ประเทศ ชาติอยู่รอดปลอดภัยดีกว่า เราไม่ติดกับรูปแบบว่านายกฯจะมาจากเลือกตั้ง หรือคนนอก ได้ทั้งนั้น แต่ขอว่าเมื่อเอามาแล้วทำแล้ว ภาพรวมคือบ้านเมืองปลอดภัยหรือไม่ ส่วนจะอยู่กี่วาระ กี่ปี ไม่จำเป็น ขอว่าให้คนดีได้มีโอกาสมาทำหน้าที่
หนุน คสช.ให้กำลังใจแม่น้ำ 5 สาย
พระสุเทพกล่าวว่า ขณะนี้ กปปส.ยังไม่ขอวิจารณ์เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ ควรให้ชัดเจนมากกว่านี้ว่าเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ นักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ อาจรักประเทศไทยมากกว่าคนอื่น หรืออาจรักตัวเอง ห่วงอนาคตตัวเองมากก็ได้ แต่เราคงไปสอนนักการเมืองไม่ได้ เขาเก่งทุกคนเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ ยืนยันอีกครั้งว่าจะไม่กลับไปลงสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้ว กปปส.ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้ คสช.และแม่น้ำทั้ง 5 สาย ทำงานให้เต็มที่ แต่อย่าทำแม่น้ำให้เป็นลำห้วย ใครทำงานไม่ดีก็ควรปรับปรุงให้ดี
ปชป.สวดยับเบี่ยงเบนหลัก ปชต.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ที่มาของ ส.ส. รวมทั้งการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.สำคัญที่สุด จนมีคำกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ยอมรับกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายนั้นมาจากความยินยอมพร้อมใจจากตัวแทนของข้าพเจ้า หรือข้าพเจ้าไม่ยอมจ่ายภาษีและข้าพเจ้าไม่ยอมให้จ่ายเงินภาษีที่เก็บจากข้าพเจ้า เว้นแต่ผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนของข้าพเจ้าเท่านั้น ดังนั้นระบอบที่ลิดรอนสิทธิอำนาจหน้าที่ตัวแทนประชาชนที่เป็นอำนาจปฐมภูมิ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน หลักการนี้ใช้ได้ทั่วโลก เว้นแต่ประเทศไหนที่กำลังจะเบี่ยงเบนหลักประชาธิปไตยเท่านั้น