เกียรติยศและความภาคภูมิใจประการหนึ่งของการรับราชการคือการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามควรแก่สถานะของข้าราชการผู้นั้น

การดำเนินการขอพระราชทานดังกล่าวเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารคือรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามปกติธรรมดา

มาเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกรณีการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ คือ

1. ปี พ.ศ.2552 คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายได้มีมติอนุมัติเสนอขอพระราชทานเครื่องราชชั้นสายสะพาย ป.ม. เป็นกรณีพิเศษเฉพาะข้าราชการพลเรือน ที่เงินเดือนเต็มขั้น (ระบบจำแนกตำแหน่ง 11 ระดับ) ระดับซี 8 และระดับชำนาญการพิเศษ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

2.ปี พ.ศ.2554-2555 คณะกรรมการได้อนุมัติให้ข้าราชการทุกประเภทที่มีเงินเดือนเต็มขั้น ซี 8 และระดับชำนาญการพิเศษ หรือเทียบเท่า รวมทั้งข้าราชการครู ระดับชำนาญการพิเศษ (ค.ศ.3) ได้รับพระราชทานเครื่องราชชั้นสายสะพาย ป.ม. ในปีก่อนเกษียณอายุราชการ และปีที่เกษียณอายุราชการทุกคน

3.ในปี พ.ศ.2556-2557 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ ให้ได้รับเครื่องราชชั้นสายสะพาย (ป.ม.) ทั้งๆที่ปี 2554 ได้รับไปแล้ว 1 รุ่น

ทั้งนี้ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเจ้าของเรื่อง ชี้แจงว่า วิทยฐานะของข้าราชการครู (ค.ศ. 3 ที่เทียบเท่ากับระดับซี 8 หรือระดับชำนาญการพิเศษ) มีเจตนารมณ์และการเข้าสู่ตำแหน่งต่างจากข้าราชการพลเรือน

ทั้งๆที่ข้าราชการครูระดับชำนาญการพิเศษ หรือ ค.ศ.3 ต้องทำผลงานและงานวิจัย เป็นปีกว่าจะได้มา ซึ่งอาจจะยากกว่าข้าราชการพลเรือนอีกหลายๆตำแหน่งด้วยซ้ำ และการได้มาซึ่งวิทยฐานะของข้าราชการทุกประเภท รวมทั้งข้าราชการตำรวจ ทหาร ก็แตกต่างกันอยู่แล้ว ไม่น่าจะเลือกปฏิบัติไม่ให้เครื่องราชชั้นสายสะพาย (ป.ม.) เฉพาะข้าราชการครูเท่านั้น จึงขอความเป็นธรรมให้ข้าราชการครูทั้งประเทศได้มีขวัญและกำลังใจ ในการปฏิบัติงานเหมือนกับข้าราชการอื่นๆด้วย

...

จับใจความจากจดหมายร้องทุกข์ดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงความลักลั่นของระบบราชการเองเกี่ยวกับการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือบางปีก็อนุมัติให้ซี 8 เต็มขั้นได้รับ บางปีก็ไม่ให้ บางปีก็ให้แต่ข้าราชการครูที่เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาเท่านั้น

หลักเกณฑ์เหล่านี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามมติของคณะกรรมการ

กลั่นกรองในแต่ละปีซึ่งดูเหมือนจะมีระดับ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนกรรมการก็เป็นคนหน้าเดิมๆในวงราชการ

เรื่องทำนองนี้ถ้าไม่เคยอนุมัติมาก่อนจะไม่ว่ากระไรเลย แต่ในเมื่อคนอื่นเคยมีสิทธิแล้วพอมาถึงกลุ่มใหม่ที่คุณสมบัติเพิ่งครบถ้วนกลับถูกตัดสิทธิเป็นใครก็อดน้อยเนื้อต่ำใจไม่ได้

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะให้คุณครูทั้งหลายหันหน้าไปพึ่งใครถ้าไม่ใช่หัวหน้า คสช.ที่มีมารดาเป็นครูและมีภรรยาเคยเป็นครู.

“ซี.12”