หลังจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนใจ จากที่เคยมีมติให้กระทรวงมหาดไทยและศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง มาเป็นให้ “คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)” 7 คน มาจากข้าราชการล้วนๆ มีเสียงท้วงติงจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าอาจไม่เป็นที่ไว้วางใจ เพราะเป็นระบบราชการ จึงขอให้ออกแบบใหม่
มีเสียงแสดงความน้อยใจจากประธาน กกต. ในทำนองว่า โดยปกติการถูกลดอำนาจ แสดงว่ามีความบกพร่อง ถ้าหาก กกต.ทำงานไม่ได้ก็พร้อมจะลาออก เพื่อไม่ให้เปลืองภาษีประชาชน ขณะที่ กกต.ท่านหนึ่งกล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยมิใช่อยู่ที่ กกต.จัดการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย แต่อยู่ที่การซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่มีทุกหย่อมหญ้าในทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ
นวัตกรรมใหม่ที่คณะกรรมาธิการฯ ค้นพบคือ กจต. มีกรรมการ 7 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นข้าราชการล้วน ได้รับเลือกจากคณะกรรมการ 7 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม, มหาดไทย, ศึกษาธิการ, คมนาคม, เกษตรและสหกรณ์, สาธารณสุข และ ผบ.ตร. ซึ่งก็เป็นข้าราชการล้วน และยังมี กจต.จังหวัด 9 คน เป็นข้าราชการ 7 คน เอกชน 2 คน
ถ้าเป็นไปตามนี้รัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้การปกครองประเทศถอยหลังกลับสู่ระบอบการปกครองโดยข้าราชการเต็มตัว เริ่มตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส.ส่วน ส.ว.มาจากแต่งตั้งทั้งหมด และข้าราชการเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ปลัดกระทรวงทั้งหก กับ ผบ.ตร. ล้วนมาจากการแต่งตั้งของนัก การเมือง และน่าจะเลือกข้าราชการที่สั่งการได้ให้เป็นกรรมการ กจต.
ถ้าระบบราชการไทยเป็นอิสระ เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็อาจพอที่จะไว้วางใจหรือยอมรับกันได้ แต่ราชการไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ระดับปลัดกระทรวง และ ผบ.ตร.มาจากแต่งตั้งของนักการเมือง จะช่วยเหลือใครหรือพรรคไหน เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถึงจะไม่ให้นักการเมืองเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้ง ก็จะไม่ทำให้หนี้บุญคุณเจือจาง
ระบบราชการไทยมักจะ “ตอบสนองนโยบายรัฐบาล” ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ โครงการรับจำนำข้าว ที่ใช้ภาษีประชาชนเกือบล้านล้านบาท เมื่อเกิดความเสียหาย ไม่มีข้าราชการคนไหนกล้าทักท้วงรัฐบาล เพราะอาจถูกลงโทษฐานขัดขวางนโยบายรัฐบาล ผู้ที่ออกมาท้วงติงล้วนแต่เป็นผู้อิสระ เช่น สตง., ป.ป.ช., สถาบันวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัย
คำกล่าวของ ดร.ประวิช รัตนเพียร กรรมการ กกต. ที่ว่าปัญหาการเลือกตั้งของไทย ไม่ใช่เพราะจัดการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม คือการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่ระบาดทุกหย่อมหญ้า ส่วนการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะให้ใครรับผิดชอบ ก็ต้องอาศัยกลไกข้าราชการอยู่ดี ที่สำคัญที่สุดใครจะแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ดีกว่ากัน.