“เรา...แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ที่จริง...แก้อะไรๆก็ไม่สำเร็จ เพราะระบบการศึกษาแผนปัจจุบันที่ดำเนินมาร้อยกว่าปี ทำให้คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย”
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ย้ำว่า การศึกษาแบบท่องวิชาที่ต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย แล้วก็ไปเรียนเมืองนอก การไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยทำให้แก้ปัญหาไม่ได้
“ภูมิปัญญาแบบอาณานิคม”...เมื่อใช้กับประเทศไทยที่มี...
“ภูมิสังคม” แตกต่างกัน ก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ประเทศตะวันตกอยู่ในเขตหนาว ธรรมชาติขาดแคลน ต้องไปแย่งชิงของคนอื่นมากิน มาใช้ ดังที่ชาวยุโรปไปยึดประเทศทั่วโลกเป็นอาณานิคม เพื่อแย่งชิงทรัพยากรของเขา ทำให้ยุโรปร่ำรวย แต่ทำลายฐานทรัพยากรและฐานวัฒนธรรมของประเทศอาณานิคม
“ระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตก”...จึงมีฐานอยู่ที่การแย่งชิง
ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชุ่มชื้น ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แบบทรัพย์ในดินสินในน้ำ ระบบเศรษฐกิจของไทยเป็น...ระบบเศรษฐกิจฐานทรัพยากร มีกิน มีใช้อย่างทั่วถึง ชอบแบ่งปัน
“เมื่อไปเอาระบบเศรษฐกิจแบบฝรั่งที่เคยทำกับประเทศอาณานิคมมาใช้ ก็เกิดการทำลายฐานทรัพยากร...ฐานวัฒนธรรม ทำให้คนส่วนใหญ่ยากจนหมดเนื้อหมดตัว คนส่วนน้อยร่ำรวยขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล ส่งต่อเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างแก้ไขไม่ตก”
ความจริงเป็นเช่นนี้ ถ้าเราเข้าใจ “ภูมิสังคม” ของเราแล้วพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรและฐานวัฒนธรรมของเรา จะหายจนหมดทั้งประเทศ และอาจถึงกับรวยแบบไม่รู้โรยก็ยังได้
ตัวย่อที่ควรนำมาใช้...“รรร.” เท่ากับ “รวยไม่รู้โรย”
ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ขอนำเสนอยุทธศาสตร์ 3 ประการ เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง...ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจติดแผ่นดิน สอง...ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม และสาม...ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ต้องเน้นย้ำว่า ทั้งสามยุทธศาสตร์ต้องเชื่อมโยงส่งเสริมซึ่งกันและกัน ลงลึกในรายละเอียด ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจติดแผ่นดิน คำว่า... “เศรษฐกิจติดแผ่นดิน” หมายถึง การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ของคนทั้งแผ่นดิน โดยเน้นที่เศรษฐกิจฐานทรัพยากรของแผ่นดิน
ประเด็นนี้ อาจารย์หมอประเวศย้ำไปแล้วหลายครั้ง...ก็ต้องย้ำกันต่อไปจนกว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะการมีเป้าหมายสัมมาชีพเต็มพื้นที่กับเป้าหมายจีดีพีอย่างเดียวนั้นต่างกัน
“สัมมาชีพ” หมายถึง อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ สัมมาชีพจึงเป็นทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และศีลธรรมพร้อมกันไป
“การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นปัจจัยให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขและศีลธรรม การที่คนทั้งประเทศหายจนจะมีอำนาจซื้อมาก จะทำให้เศรษฐกิจข้างบนตั้งอยู่บนฐานที่มั่นคง ไม่ใช่พึ่งแต่การส่งออกเป็นสำคัญ ซึ่งผันผวน และวิกฤติได้ง่ายตามเศรษฐกิจโลก”
ยุทธศาสตร์ต่อมา... “เศรษฐกิจวัฒนธรรม”
“วัฒนธรรม”... หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมจึงมีความหลากหลายไปตามชุมชนท้องถิ่นต่างๆ
“ทุกวัฒนธรรมต่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง ไม่ถือว่าใครเหนือใคร ถ้าการพัฒนาเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งก็จะกระจายเกียรติและศักดิ์ศรี แต่ถ้าเอาอำนาจรัฐและเงินเป็นตัวตั้ง...ก็จะรวมศูนย์”
การแข่งขันทางเศรษฐกิจ ควรจะแข่งขันจากจุดแข็งของตัวเอง คือจากจุดที่ตัวมีและทำได้ดี ถ้าแข่งขันจากจุดอ่อนของเราแต่เป็นจุดแข็งของคนอื่นก็มีแต่จะพ่ายแพ้
จุดแข็งของไทยที่ไม่มีคนอื่นจะแข่งได้ก็คือ...“วัฒนธรรมไทย” เพราะเป็นวิถีชีวิตของเราไม่ใช่วิถีชีวิตของคนอื่น เศรษฐกิจที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมเรียกว่า...“เศรษฐกิจวัฒนธรรม”
กรณีตัวอย่างเศรษฐกิจวัฒนธรรม “การท่องเที่ยว”...ถ้าเราจัดการระบบการท่องเที่ยวให้ครบวงจร ทั้งการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการท่องเที่ยวสุวรรณภูมิ หรือเอเชียอาคเนย์ ในฐานะที่เราเป็นประเทศที่อยู่ศูนย์กลางหรือจุดเชื่อมโยงทั้ง 4 ทิศ จะเป็นการพัฒนาทั้งสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการศึกษาควบคู่กันไป
“การท่องเที่ยวจะเชื่อมโยงกับการขายสินค้าวัฒนธรรมต่างๆ ถ้าจัดการได้ดีจะสร้างการมีงานทำ และรายได้มหาศาล”
ถัดมา “อาหารไทยคือวัฒนธรรมไทย”... อาหารไทยเป็น 1 ใน 5 ของอาหารโลก คือ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาเลียน อาหารไทยนอกจากอร่อยแล้วยังเป็นอาหารสุขภาพ เพราะมีไขมันต่ำ เส้นใยสูง ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังมีหอม กระเทียม พริก ซึ่งป้องกันการแข็งตัวของเลือด และละลายลิ่มเลือด
“ผลจากอาหารทำให้คนไทยเป็นโรคหลอดเลือดอุดตันน้อย ขณะที่เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญที่สุดของฝรั่ง เราจะต้องเอาความรู้เหล่านี้มาเป็นจุดขายนอกเหนือไปจากความอร่อยของอาหารไทย เราจะต้องทำให้อาหารไทยขายดีไปทั่วโลก และพัฒนาหีบห่อที่สามารถเก็บ ส่ง นำไปปรุงได้สะดวก”
อีกตัวอย่างสุดท้าย “อาหารฮาลาลปัตตานี” อาจารย์หมอประเวศชี้ว่า ควรจะทำให้อาหารฮาลาลปัตตานีเป็นแบรนด์ที่ดังไปทั่วโลก โดยมีจุดขายที่นอกเหนือไปจากการทำโดยคนมุสลิมแล้ว คือมีความอร่อยแบบอาหารไทย และใช้วิทยาศาสตร์ดีเอ็นเอตรวจรับประกันว่าไม่มีเนื้อหมูเจือปนแม้แต่นาโนกรัมเดียว
นอกจากนั้นการจัดการให้อุตสาหกรรมฮาลาลปัตตานีเชื่อมโยงกับการยกระดับรายได้ของเกษตรและชาวมุสลิมภาคใต้ก็เป็นจุดขาย ...มีความสำคัญต่อการสร้างสันติสุข
สุดท้าย...ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรจะเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอยู่ในระบบการศึกษา และอยู่ในกองทัพ ปัญหามีว่า...ที่แล้วมา เราพัฒนาอย่างแยกส่วน
“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี...ในระบบการศึกษากับในกองทัพ ไม่ได้นำมาพัฒนาเศรษฐกิจระบบการศึกษาก็ทำหน้าที่สอน กองทัพก็ทำหน้าที่รบ ต่อไป...ต้องพัฒนาแบบเชื่อมโยงหรือบูรณาการ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องนำมาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ”
ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา หากบริหารไปตามวาระปกติของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆจะไม่สำเร็จ เพราะการบริหารงานเป็นการ...“แยกส่วน” แยกส่วนแม้ในกระทรวงเดียวกัน แต่การพัฒนาต้องการประกอบเครื่อง “เชื่อมโยง” กันเข้ามา เหมือนรถยนต์ถ้าเครื่องหลุดออกจากกันเป็นส่วนๆ...ก็วิ่งไม่ได้
นั่นแหละราชการไทย จึงทำอะไรไม่สำเร็จ?
“รถยนต์...ถ้าประกอบเครื่องครบ ก็วิ่งได้สบายๆไปสู่เป้าหมายได้ แน่นอน...เราต้องประกอบเครื่องเศรษฐกิจให้ครบ แล้วมันก็จะวิ่งไปได้เอง” ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวทิ้งท้าย.