สำรวจ 'คลื่นรบกวน' อำนาจพิเศษประเดิมปีใหม่ : การบ้านปีแพะ กระหน่ำเรือแป๊ะ
ทีมการเมือง
4 ม.ค. 2558 05:01 น.
ปิดท้ายเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่กันชุ่มฉ่ำหัวใจ
ได้หยุดยาวชาร์จแบตเตอรี่เพื่อลุยสู้ชีวิตกันต่อในปี 2558
เปิดศักราชเข้าสู่ปีแพะที่ดูเหมือนจะเหนื่อยกันหนัก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่มีเค้ามาตั้งแต่ปีกลาย จากภาวะเศรษฐิจที่ซึมไปทั่วโลก จีน ญี่ปุ่น ยุโรป กระทบมาถึงประเทศไทย
จากสถานการณ์ยางพาราที่ตกลงไปเหลือ “3 โล 100”
กระตุกแกนนำม็อบสายปักษ์ใต้ประกาศดังๆ ไว้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจะให้เวลารัฐบาลแก้ไขปัญหาแค่ 1-2 เดือน ถ้ายังไม่มีอะไรดีขึ้น จะระดมพลชุมนุมใหญ่โดยไม่สนไม่กลัวกฎอัยการศึก ขู่เลยว่า อะไรจะเกิดก็ไม่รับผิดชอบ
ม็อบยางตั้งเค้า ในจังหวะพอดีกับที่พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ฯลฯ ก็ถึงฤดูเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาด
ในห้วงที่วิกฤติราคาน้ำมันโลกตกต่ำกระทบภาคการส่งออกของไทย ตามรูปการณ์อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นปัญหาพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ
ขณะที่ผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ก็ออกตัวไปแล้วว่า รัฐบาลไม่มีงบประมาณไปแทรกแซงราคาพืชผลเกษตรเหมือนที่ผ่านมา
ปัญหาวัวพันหลัก ออกซ้ายก็เจอหล่ม ไปขวาก็เจอทางตัน
ยังไม่นับสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มส่งสัญญาณแล้วจากปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ต้นปี จากปกติจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
ประกอบกับข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนภาคเหนือจากการรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าน้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา
นั่นหมายถึงคนไทยต้องเตรียมตัวเจอกับปัญหาน้ำขาดแคลนทั้งอุปโภคบริโภค
ซึ่งก็ไม่ต้องพูดถึงน้ำในภาคของการเกษตรที่ชาวไร่ ชาวนา ต้องเดือดร้อนหนักแน่
และนั่นก็จะไปซ้ำเติมภาวะผลผลิตปีก่อนไม่ได้ราคา ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปีนี้ยังส่อว่าจะต้องเพิ่มจากสถานการณ์ภัยแล้ง
เกษตรกรชาวบ้านรากหญ้าสาหัสก็แล้วกัน
และมันก็จะเป็นหัวเชื้อในการก่อชนวนมวลชน อารมณ์ผสมโรงความไม่พอใจรัฐบาล
โดยรูปการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจส่ออาการหนักตามจังหวะต่อเนื่องก็จะพาลมาถึงการเมืองในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยสารพัดเงื่อนไข
จ่ออยู่ในขั้นหัวเลี้ยวหัวต่อ
ที่แน่ๆ คลื่นใต้น้ำที่โดนกระแสคลื่นแห่งความสุขในช่วงปีใหม่กลบไปก็ถึงเวลากลับมากระเพื่อม
หมดเวลาอั้น อั้นไม่อยู่
ประเดิมด้วยคิวร้อนๆก่อนเลย กับรายการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาจากกรณี การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ
ต่อเนื่องกับคิวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายก รัฐมนตรี กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ฐานปล่อยปละ ละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์
และนายนิคมในวันที่ 8 มกราคม 2558 และวันแถลงเปิดสำนวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 9 มกราคม 2558
รวบรัด 2 ช็อตติดกัน
งานนี้น่าจะใช้เวลาไม่นานก็คงรู้ผลออกหัวออกก้อย
แน่นอนไม่ว่าผลจะออกมุมไหนก็หนีไม่พ้นอาการยื้อยุดฉุดกระชากของฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเดิมพันเกมอำนาจระหว่างขั้วขัดแย้ง 2 ข้าง
“ฝ่ายเสีย” ไม่มีทางยอมรับผลแต่โดยดีแน่
และโดยเชื้อชนวนก็จะเป็นเงื่อนไขที่โยงไปถึง การเคลื่อนไหวของ บรรดาหัวขั้วอำนาจที่ซุ่มคุมเชิงวัดใจ รอประเมินกระบวนรุกของอีกฝ่าย จะเล่นกันถึงขั้นไหน
“ซูเอี๋ย” แบบเจ๊ากันไป หรือลุยขุดรากถอนโคน
แน่นอนว่า ถ้าออกแนวหลังก็คงอยู่เฉยไม่ได้ ตามอาการของฝ่ายโดนรุกไล่เข้ามุมอับ ทีมงานของคนแดนไกล ต้องขยับรับมือเกมล้างบาง
“นายใหญ่” คงไม่อยู่นิ่งยอมรับชะตากรรม
อย่างน้อยก็ต้องเริ่ม “ปล่อยของ” เดินเกมต่อรองกับฝ่ายถืออำนาจ
และนั่นก็เป็นโอกาสที่พวกที่หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ
จะได้ขยับผสมโรง อย่างที่มีการนำร่องจัดตั้งองค์กรเสรีไทยฯขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกดดันรัฐบาลทหาร
เดินแต้มยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย
ยกระดับแรงเสียดทานจากภายนอก เพิ่มโจทย์ยากให้ทีมงานท็อปบูต
ขณะที่แรงเสียดทานภายในก็เพิ่มขึ้นตามจังหวะความคืบหน้าของกระบวนการปฏิรูปการเมือง ในช่วงสำคัญตามโรดแม็ปขั้นสองของ คสช.
การก่อกำเนิดร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
หลังจากเปิดให้พ่อครัวแกงส้ม 265 คน แข่งกันเสนอสูตร แย่งกันชงสารพัดโมเดลจนฝุ่นฟุ้งกระจาย
จนกลายเป็น “แกงโฮะ”
อย่างไรก็ดี มันก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ยังต้องเขย่ากัน อีกหลายยก
ตามโปรแกรมขั้นตอนต่อไปคณะอนุกรรมาธิการการรับความคิดเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดคิวลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นครั้งแรกที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 17-18 มกราคม 2558
จากนั้นจะทยอยลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ตามลำดับ และเวทีสุดท้ายจะจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร
สรุปยอดรวม 770 เวทีทั่วประเทศ
เรียกว่า ฟังกันจนหูหนวกหูตึงกันไปข้าง
แน่นอนตามกระบวนการทางพิธีกรรมก็เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ทำให้เกิดภาพของรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาดูดี มีการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกสาขาอาชีพ
เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ
ไม่ใช่ “พิมพ์เขียว” หรือ “พิมพ์ชมพู” ที่ควักออกมาจากลิ้นชัก
แต่ในมุมกลับกันก็ต้องยอมรับสภาพแห่งความเป็นจริง ยิ่งมากเวทีก็ยิ่งมากความเห็น
มากประเด็นขัดแย้งขบเหลี่ยมกัน
และก็อย่างที่เห็น ยังไม่ทันออกไประดมความเห็นจากประชาชน ก็มีการเหยียบตาปลากันเองในหมู่ทีมงานรังสรรค์รัฐธรรมนูญใหม่
เชื้อชนวนจากโมเดลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ที่กระตุกแรงเสียดทานจากทุกทิศทุกทาง ยั่วอาการของพวกระแวงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
และนั่นก็ทำให้ต้องรีบคัตเอาต์กันก่อนเลย
เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ลงมติคว่ำกระดาน ไม่เอาด้วยกับสูตรแหลมๆ เสียวๆ
ไม่ขอเอี่ยวกับเผือกร้อน อันตราย
โดนตัดทิ้งก่อน โมเดลเลือกตั้งนายกฯโดยตรงแท้งตั้งแต่ยังไม่ตั้งท้อง
แต่มันก็ได้ก่ออาการทางใจระหว่าง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง
กับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน คณะกรรมาธิการยกร่างฯ
ว่าด้วยปม “ซุปเปอร์ประธานาธิบดี”
ซัดกันแรงแบบที่ตอบโต้ผ่านสื่อ เปิดหน้าบลัฟกันออกอากาศ
ตามฉากหักเหลี่ยมเฉือนคม
ความคิด โอกาสที่จะมีลูกติดพันในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขั้นตอนต่อจากนี้ไปเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
โดยเฉพาะจำพวก “หนุมานเหาะเกินกรุงลงกา”
ขาเฮี้ยวที่ลงเรือแป๊ะ แต่จะไม่ตามใจแป๊ะ
ประเมินสถานการณ์ในสภาปฏิรูปฯ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แนวโน้มแม่น้ำสายที่ 4 สายที่ 5 คุมให้ไหลตามเส้นทางไม่ง่าย
ในส่วนของรัฐบาลที่ถือเป็นแม่น้ำสายที่ 3 ก็ยังไหลติดๆขัดๆ
ตามสถานการณ์อึดอัด อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการแต่งตั้งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ผู้มากบารมี
เป็นคนคุมทีมไล่บี้ขันนอต เค้นผลงานรัฐมนตรี
ผ่านมาหลายเดือนยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากไปกว่า ผลโพล ตัวเลขลอยๆ
นั่นไม่เท่ากับว่า สัญญาการคืนความสุขให้ประชาชน คนไทย ก็ด้อยลงไปเมื่อถูกนำมาเทียบกับผลงานฟุตบอลไทยที่คืนความสุขให้ประชาชนคนไทยอย่างจับต้องได้เป็นรูปธรรม
ที่แน่ๆ ตามกระแสวงในที่แพลมๆออกมา จะยกเครื่อง ครม.กันอีกรอบในเดือนเมษายน
ไล่ตามโจทย์ ประเมิน “การบ้านปีแพะ” ของรัฐบาล คสช. มีแต่ของหนักและเหนื่อย
จริงอยู่ที่ว่า โดยสัญญาณคลื่นรบกวนในห้วงสถานการณ์อำนาจพิเศษ แม้จะยังจุดไฟไม่ติด เพราะยังไม่มีเงื่อนไขเป็นชนวนเชื้อไฟมากพอ
แต่มองด้วยสายตา ก็ส่อให้เห็นการตั้งเค้าอยู่ตรงหน้า
พายุสารพัดลูกจ่อกระหน่ำเรือแป๊ะ.