ลงพื้นที่ขอนแก่นบอกไม่เป็นไร ขู่20ผวจ.แล้ง-ท่วมซํ้าซากมีเรื่อง โปรดเกล้าฯ2รมต.อำนวย-วิสุทธิ์
“บิ๊กตู่”หอบ รมต.ลงพื้นที่อีสานนัดแรกสะดุด เจอโปรยใบปลิวต้าน “กลุ่มดาวดิน” ชู 3 นิ้วกลางวง แต่ยังหน้าชื่นบอกมีความสุข อ้อนมาด้วยใจเต็มร้อยขอแลกหัวใจกลับคืน ยืนยันมาทำประโยชน์ไม่เป็นศัตรูกับใคร ประกาศลั่นต้องไปได้ทุกที่ทั่วประเทศ กำชับผู้ว่าฯอีสาน 20 จว.ต้องตื่นตัว ขู่พื้นที่ไหนแล้ง-ท่วมซ้ำซากมีเรื่อง พอกันทีพวกทำงานแบบจุดพลุ โปรดเกล้าฯ 2 รมต.ใหม่ “วิสุทธิ์” รมช.คลัง “อำนวย” รมช.เกษตรฯ “สมคิด” ปัดข่าวเกาเหลา “หม่อมอุ๋ย” “ประยุทธ์” กำชับ 5 ฝ่ายเดินตามโรดแม็ป ย้ำไม่มีธงตั้งกติกาล่วงหน้า ลั่นไม่มีวางเกมสืบทอดอำนาจ “วิษณุ” ชี้คำสั่งตั้ง “มีชัย” ไม่ใช่เรื่องลึกลับ เอาแน่หั่นอำนาจองค์กรอิสระ “บวรศักดิ์” ปัดไม่ได้ซุกพิมพ์เขียว
รธน. อนุ กมธ.รับลูกรื้อของเก่ามารีไซเคิล ถึงคิว ชพน.-พช.ให้ความเห็นตรงกันเลือกเขตเล็ก ตามง้อขอเข้าพบเพื่อไทยแม้รัฐบาลจะแสดงท่าทีแข็งกร้าวไม่ผ่อนปรนกฎเหล็ก เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ แต่จากการลงพื้นที่ต่างจังหวัดครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ จ.ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ กลับเจอการท้าทายจากกลุ่มต่อต้านการทำรัฐประหาร
กระชับ 5 ฝ่ายเดินตามโรดแม็ป
เมื่อเวลา 08.20 น. วันที่ 19 พ.ย. ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเครื่องไปตรวจราชการภัยแล้งที่ จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ถึงการประชุมร่วม 5 ฝ่าย ได้แก่ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่าเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจในทางปฏิบัติ ทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศเรียบร้อย เป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ ให้ 5 ส่วนทำงานร่วมกันภายใต้นโยบายเดียวกัน คือการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน วางพื้นฐานประเทศระยะยาว ที่เกี่ยวพันในเรื่องของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก ที่ต้องออกให้ทันเวลา ไม่อย่างนั้นการปฏิรูปจะไม่เป็นรูปธรรม หากมีเลือกตั้งแล้วกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่เรียบร้อย ปัญหาก็จะแก้ไม่ได้เหมือนเดิม “โอเคนะ เข้าใจนะ อธิบายยาวไม่เข้าใจกันอีกซิ”
...
ห่วง ก.ม.ภาษีมรดกกระทบคนจน
เมื่อถามว่า พอใจการทำงานแต่ละฝ่ายขนาดไหน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า พอใจ วันนี้ต้องเห็นใจ สนช.มีกฎหมายเข้าไปกว่า 170 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล และคณะกรรมการกฤษฎีกากว่า 20 ร่าง และอีกกว่า 100 ฉบับ กระทรวงกำลังทยอยส่งมา อย่างร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกต้องใช้เวลาอีกกว่า 3 เดือน เพราะต้องมาถกกันอีกเพื่อหาข้อยุติ ว่าทำให้เกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร มีส่วนได้ส่วนเสียตรงไหน เห็นข่าวชาวไร่ ชาวนา เกรงจะเดือดร้อน ต้องขายนามาจ่ายภาษี ต้องไปหาวิธีช่วยเหลือกันได้อย่างไร รัฐบาลคิดทุกประเด็น ไม่ใช่ว่าอยากจะออกอะไรก็ออกไป เราต้องทำให้ทุกคนพึงพอใจ ที่สำคัญเป็นกฎหมายที่ต้องออกตามยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ
ยึด คอป.ไม่ใช้เหลี่ยมกฎหมาย
นายกฯกล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง ไม่มีธงหรือสั่งการใดๆทั้งสิ้นกับ สนช. สปช. ตนเห็นด้วยข้อเสนอนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่บอกว่า การใช้กฎหมายเข้าไปแก้ปัญหาการเมืองมันอันตราย ต้องระมัดระวัง ต้องไปศึกษา ตนไปชี้นำไม่ได้ ไปดูว่าความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลควรทำตัวอย่างไร การบังคับใช้กฎหมายบางทีมันก็เป็นปัญหา ถ้าไม่ทำเจ้าหน้าที่ก็โดนละเว้น ถ้าไม่ทำมันก็จะแรงเกินไป และถ้ามีใครไม่หวังดีทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น มันก็วุ่นวายกันไปหมด สิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นในอนาคต ต้องเอาผลประโยชน์ประเทศ ชาติเป็นหลัก เมื่อถามว่า จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกฯตอบว่า ขึ้นกับสถานการณ์ ถ้าทุกคนร่วมมือก็ไม่มีปัญหา
ลั่นไม่มีวางเกมสืบทอดอำนาจ
“ให้ใช้หลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว มีเหตุมีผล มีสติรับรู้รับฟัง ผมจึงเตือนตนเองอยู่เสมอว่า ต้องมีสติ แม้เวลาตอบคำถามสื่อมวลชนต้องระมัดระวัง ขอความเห็นใจด้วย ให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วยเวลาถาม เมื่อผมเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมานาน รื้อออกยังไม่ทันทำอะไรก็มาว่ากันแล้ว ผมจะเอากำลังใจที่ไหนทำ มีใครกล้ารื้อสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาบ้าง ทั้งเรื่องป่าไม้ การจัดระเบียบ โครงการใหม่ๆที่ป้องกันการทุจริต เราฟังเสียงประชาชนทุกวัน ที่สำคัญไม่ได้เข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ ไม่ต้องการอำนาจ และไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ อย่าไปเขียนจนมันเลอะเลือนไปหมด ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน อย่างนี้มันไม่ได้ โอเคไหม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
“วิษณุ” เชื่อโฉม รธน.ใหม่ไร้ปัญหา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลการหารือ 5 ฝ่าย ที่นายกฯให้เร่งผลักดันการออกกฎหมาย ว่าอยู่ที่ต้นทางคือเจ้ากระทรวงต้องเร่งส่งมาให้ ครม.เห็นชอบ และต้องส่งไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ ถ้าตรวจแล้วใช้เวลานานจน สนช.ไม่อยู่แล้ว คงมีบ้างที่ไม่ทันโทษใครไม่ได้เพราะทำช้าเอง นายกฯกำชับแล้วว่า สปช.จะปฏิรูปอะไรต้องมีกฎหมายออกมา ไม่ใช่เพ้อไปเรื่อย ถ้า สปช.ทำอะไรได้ก็ทำ ไม่ต้องมารอรัฐบาล ซึ่ง คสช.คงรับทราบความคืบหน้าจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯทุกสัปดาห์ จะได้มาคุยกันว่าจะเสนอแนะอะไรอีกบ้างหรือไม่ ทุกคนรู้ปัญหาเก่าดีกว่าที่ผ่านมาว่ามีปัญหาอะไรบ้าง คงไม่ร่างแบบกลับไปหาปัญหาเก่าอีก
ชี้คำสั่งตั้ง “มีชัย” ไม่ใช่เรื่องลึกลับ
เมื่อถามว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คสช. ระบุว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ต้องรีบเขียน จะเสียของ หมายความว่าอย่างไร นายวิษณุตอบว่า หมายถึงรัฐธรรมนูญ จะยกร่างเสร็จประมาณเดือน ส.ค.หรือ ก.ย.2558 และอีกประมาณ 3 เดือนถึงจะมีการเลือกตั้ง จึงต้องทำกฎหมายลูกที่สำคัญให้เสร็จก่อน ประกอบด้วย กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนกฎหมายลูกที่เหลืออะไรสำคัญก็ทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง อย่าหวังว่ารัฐบาลที่เลือกตั้งเข้ามาจะมาทำต่อ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 ผ่านไป 7 ปีมีกฎหมายลูกออกมาได้แค่ 3 ฉบับ จาก 20-30 ฉบับ ส่วนการทำประชามติรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีใครไม่เห็นด้วย หากสังคมเรียกร้องและคิดว่ามีประโยชน์ก็ทำ ส่วนการตั้งนายมีชัย ให้ช่วยติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่แปลกไม่ได้ลึกลับอะไร ท่านมีสติปัญญาช่วยเราได้ มีอะไรก็แนะนำคณะที่ปรึกษา คสช. ไม่ได้ไปแนะนำคณะกรรมาธิการยกร่างฯ
เอาแน่หั่นอำนาจองค์กรอิสระ
เมื่อถามว่า องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง หากไม่ยกเลิกจะปรับแก้ไขอำนาจหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า กรรมาธิการยกร่างฯคงมีความคิดอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ทบทวนความจำเป็นของการมีองค์กรต่างๆ เป็นการฝากให้กรรมาธิการยกร่างฯได้คิดตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเคยมีแล้วต้องมีต่อไป มีต่อก็ได้แต่อาจต้องเปลี่ยนองค์ประกอบ เปลี่ยนอำนาจ เปลี่ยนหน้าที่ เช่น กกต.จำเป็นต้องมี แต่องค์กรเดียวควรมีทั้ง 3 อำนาจหรือไม่ กรรมาธิการยกร่างฯต้องเอาไปคิด ไม่ใช่ว่าองค์กรอิสระจะเหลิงอำนาจกัน แต่ไปให้อำนาจเขาเอง ให้อำนาจไว้ก็ต้องใช้ ถ้าไม่ใช้จะมีคนบอกว่าเสียของอีก ดังนั้นไม่ควรให้อำนาจองค์กรอิสระตั้งแต่แรก เมื่อถามว่าในวงหารือ 5 ฝ่าย คุยเรื่องกฎอัยการศึกอย่างไรบ้าง นายวิษณุตอบว่า มีการพูดกันนิดหน่อยว่าเป็นอุปสรรคหรือไม่ ทุกฝ่ายก็เห็นว่าไม่ได้เป็นอุปสรรค ทุกอย่างยังคงดำเนินไปได้ปกติ และ คสช.รับจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาเอง
“บวรศักดิ์” รับลูกตามงานอนุฯ
ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดว่าจะนำความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ในที่ประชุม 5 ฝ่าย หารือในกรรมาธิการยกร่างฯเพื่อกำหนดแนวทางหรือปรับแนวทางหรือไม่ ซึ่งวันที่ 1 ธ.ค. จะติดตามงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ประเด็น
เล็งเอา ก.ม.ลูกของเก่ามารีไซเคิล
นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การออกกฎหมายลูกที่ใช้เป็นกติกาเลือกตั้ง ขอให้เป็นไปตามกรอบเวลา หากทำไม่เสร็จตามเวลาอาจต้องยืดเวลาออกไปอีก ซึ่งแนวทางทนายบวรศักดิ์ให้ไว้คือ ระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายลูกต้องทำงานคู่ขนานไปด้วย ทั้งนำกฎหมายลูกฉบับเก่ามาพิจารณาปรับปรุง หรือหากจำเป็นต้องยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ก็ต้องเร่งทำควบคู่กันไป ส่วนตัวเห็นว่าสามารถนำฉบับเก่ามาพิจารณาปรับปรุงสาระไม่มากนัก เพราะมีบทบัญญัติที่ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือต้องนำบทบัญญัติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างไร
ถึงคิว ชพน.—พช.ให้ความเห็น
ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานการประชุม โดยเชิญตัวแทนพรรคชาติพัฒนา ได้แก่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค นายประเสริฐ บุญชัยสุข เลขาธิการพรรค และตัวแทนพรรคพลังชล ได้แก่ นายสันต์ศักย์ งามพิเชษฐ์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังชล นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี ร่วมให้ความเห็น โดย นพ.วรรณรัตน์กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ส่วนการรับฟังความเห็นประชาชนที่ยังติดปัญหาเรื่องกฎอัยการศึกนั้น เห็นว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการรับฟังความคิดเห็นถ้าพิจารณาผ่อนปรนได้ ก็ควรให้ตามความเหมาะสม
ขณะที่นายสันต์ศักย์กล่าวว่า พรรคพลังชลพร้อมสนับสนุนการปฏิรูป ขอให้ผู้มีอำนาจปฏิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นกลางกับทุกฝ่าย ส่วนกฎอัยการศึกนั้น ยอมรับว่าเป็นปัญหาอยู่บ้างในการระดมความคิดเห็นเพื่อปฏิรูป เร็วๆนี้พรรคพลังชลจะทำหนังสือถึง คสช. ขออนุญาตประชุมพรรค การเมือง เพื่อระดมความเห็นเสนอแนะเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ
“บวรศักดิ์” ปัดซุกพิมพ์เขียว รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ยืนยันว่ากรรมาธิการยกร่างฯยังไม่มีธงหรือพิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด การทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมาธิการกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่สังคมให้ความนับถืออยู่หลายคน เช่น นายสุจิต บุญบงการ นพ.กระแส ชนะวงศ์ หลังจากนี้หากพรรคการเมืองใดมีข้อเสนอแนวทางปฏิรูปสามารถยื่นรายละเอียดเพิ่มเติมได้
ชพน.ชงเปิดช่องนายกฯฝ่าวิกฤติ
จากนั้นเวลา 12.30 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แถลงหลังการประชุมว่า นพ.วรรณรัตน์ให้ข้อเสนอ 6 ประเด็น คือ 1.รัฐธรรมนูญควรกระชับ กะทัดรัด ไม่ยากต่อการตีความ 2.เป็นเอกลักษณ์ของไทย 3.เป็นกลางไม่อคติ 4.มีความยืดหยุ่น ทันสมัย สามารถดำเนินงานด้านการต่างประเทศได้ทันเหตุการณ์ 5.มีบทบัญญัติที่จะไม่ให้ประเทศเข้าสู่ทางตัน 6.เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงเสนอให้มีนายกฯมาจากการเลือกตั้ง ยกเว้นกรณีบ้านเมืองเกิดวิกฤติ เช่น นายกฯถูกถอดถอน และเกิดทางตันหรือวิกฤติการเมือง จึงเลือกคนนอกมาทำหน้าที่ได้ แต่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. จำนวน 3ใน4 โดยนายกฯจะเข้ามาทำหน้าที่เฉพาะในช่วงวิกฤติไปจนกว่าสถานการณ์ปกติ จนมีการเลือกตั้งเท่านั้น
สองพรรคเห็นตรงเลือกเขตเล็ก
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า ทั้ง 2 พรรคยังเห็นพ้องตรงกันเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นเขตเล็ก เพราะสามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึงกว่าเขตใหญ่ ส่วนเรื่องทุจริตการเลือกตั้งนั้น ให้ กกต.ทำหน้าที่จัดเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการให้ใบเหลือง ใบแดง ให้เป็นหน้าที่ของศาลและสามารถอุทธรณ์คดีได้ ส่วนเรื่อง ส.ว.ยังคงให้มี 2 แบบคือ เลือกตั้งและสรรหา โดยให้มีสัดส่วน ส.ว.สรรหาน้อยกว่าเลือกตั้ง แต่ต้องมีคุณสมบัติ ส.ว.สรรหาให้สูงกว่า ส.ว.เลือกตั้ง อาทิ วุฒิการศึกษา และอายุ และเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน เช่น เชียงใหม่ สงขลา และพรรคพลังชลยังเสนอให้ยกเลิกประเด็นยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค โดยให้ลงโทษคนทำผิดเท่านั้น
กมธ.ยกร่างฯตามง้อขอพบ พท.
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 20 พ.ย. กมธ.ยกร่างฯจะเชิญพรรคมาตุภูมิมาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ปฏิเสธที่จะเดินทางมาเข้าร่วม แต่ทาง กมธ.ยกร่างฯมองว่าไม่เป็นไร เพราะ กมธ.ยกร่างฯจะไปหารือกับตัวแทนพรรคเพื่อไทยเอง
“เทียนฉาย” ยันเวทียังเปิดกว้าง
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กล่าวภายหลังร่วมให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ได้สะท้อนว่ากรรมาธิการฯ ชุดนี้มีความสำคัญกว่าคณะอื่นๆ จึงต้องให้ความสำคัญต่อการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากที่สุด เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลนำไปใช้ ประเด็นนี้นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. ให้ความเห็นว่าการปฏิรูปอาจไม่เสร็จภายใน 1 ปี จึงต้องมีกลไกให้หน่วยงานอื่นนำไปสานต่อ ซึ่งมั่นใจได้ว่าเวทีรับฟังความเห็นจะไม่มีอคติ เพราะตั้งโจทย์ชัดเจน ส่วนรูปแบบจัดเวทีทำได้ 2 รูปแบบคือ เปิดเวทีให้กลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกโดยหลักทางสถิติและเวทีที่เปิดขึ้นทั่วไป ยืนยันจะอยู่ภายใต้หลักปฏิบัติในกรอบรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดกฎอัยการศึก