นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์
“หากไม่ปฏิรูปประเทศ ความขัดแย้งจะกลับมา”
นั่นคือเหตุผลหลักของผู้จับงานด้านปฏิรูปประเทศมายาวนาน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ทีมการเมือง ซึ่งพยายามบอกแก่สังคมเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมขึ้นขบวนรถไฟแห่งการปฏิรูป
เพราะขณะนี้มีโจทย์ใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปคือ ระบบราชการ ระบบงบประมาณ ระบบกฎหมาย มันติดไปหมด พูดไปก็ซับซ้อน
ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลชูและสร้างกลไกปฏิรูป ในฐานะเป็นรัฐมนตรีจะเน้นดูแลกระทรวงเฉพาะในส่วนที่ทำได้ก่อน เช่น ออกกฎกระทรวงดีๆที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ขณะที่ในภาพใหญ่ของการปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เน้นตลอดให้มองเรื่องการปฏิรูปในภาพรวม
ก็เป็นโอกาสของสังคมที่จะร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปไปด้วยกัน แม้ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่อยากปฏิรูป แต่ยังเคลือบแคลงในความจริงใจและโอกาสที่เป็นจริงในการปฏิรูป เพราะยังไม่กระจ่างชัดว่าการปฏิรูปคือปฏิรูปอะไร
ในช่วงที่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุด นายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี ชูเป้าหมายต้องปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการปักธงที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาเรามีการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญปี 40
ขณะนั้นเชื่อว่าประเทศไทยจะดีขึ้น ชัดเจนว่าช่วยให้ประเทศดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ทั้งหมด เพราะยังไม่นำไปสู่การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
พอผ่านเหตุการณ์ช่วงนั้น มาถึงช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง กปปส.ชุมนุมและชูธงการปฏิรูป ขณะนั้นรู้สึกว่าสังคมไทยเริ่มกลับมาวนเวียนกับการปฏิรูปการเมืองอีกแล้ว อยากได้นักการเมืองดีๆมาปกครองประเทศ
แทนที่จะมีคุยกันว่าเราควรปฏิรูปกติกาและกลไกในสังคม ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลมันต้องมีการแก้ มีการจัดการกติกาเชิงโครงสร้าง
และแล้วสังคมก็เริ่มรับรู้ว่าการปฏิรูปมีทั้งการเมืองและปฏิรูปเพื่อปากท้องประชาชน แต่กลับมีการพูดถึงการปฏิรูปอย่างจริงจังน้อยกว่าที่ควร
ขณะที่การปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรม ไม่ได้ทำง่ายๆในเวลาอันสั้น จึงมีโจทย์ว่าจะต้องมีกลไกเพื่อช่วยสังคมเดินหน้าปฏิรูป เป็นการทำงานระยะยาว
เมื่อมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เป็นกลไกปฏิรูปแล้ว น่าจะพูดถึงกลไกที่จะดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จึงมีความคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งแล้วจะต้องมีกลไกดูแลการปฏิรูปคู่ขนานกับกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ หรือจะให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
กลไกปฏิรูปอาจไม่ใช่ สปช.แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ เพราะกลไก สปช.ก็มีความเสี่ยง ที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งมาช่วยรับหน้าที่ปฏิรูปประเทศไทย ถ้าเป็นอย่างนั้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจะหายไป
เมื่อประชาชนตื่นตัว ต้องเอาความตื่นตัวนั้นมาใช้ประโยชน์ ถ้าทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่า การปฏิรูปที่มีคนมาทำคู่ขนานกับรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้เราเสียโอกาส
จึงมีไอเดียว่ากลไกการปฏิรูปไม่ใช่กลไกสภาฯ แต่เป็นกลไกที่มาจัดการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีผู้มีความรู้มากำกับให้เกิดการสร้างกระบวนการและการสังเคราะห์ข้อเสนอ ไม่ใช่มาตัดสินใจแทน
เราเห็นความจำเป็นหรือไม่ที่จะมีกลไกปฏิรูปคู่ขนานกับนิติบัญญัติและรัฐบาล โดยทำตั้งแต่ช่วงนี้ ตอนนี้รัฐบาลเริ่มแล้วที่เรียกว่า โมเดล 1 เป็นกลไกปฏิรูปในรูปแบบสภาฯ
โมเดล 2 จะไม่เอาสภาฯ ไม่มีการเลือกคนเป็นตัวแทน แต่จะเป็นกลไกสร้างความมีส่วนร่วมและสังเคราะห์ข้อเสนอแนะ ฟังเป็น สังเคราะห์เป็น เป็นตัวเชื่อมโยงข้อสังเคราะห์นั้นเข้าสู่กลไกนิติบัญญัติและรัฐบาล ถ้ากลไกนี้ทำงานได้ดี เราอาจได้ข้อเสนอที่มากกว่าโมเดล 1 แต่ทำยากกว่าแน่ๆ
โมเดล 3 ผสมผสานระหว่างโมเดล 1 กับโมเดล 2 โดยมีสภาฯก็ได้ แต่ต้องมีกลไกสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง คู่ขนานหรือประกบติดไปด้วยกัน
กลไกการมีส่วนร่วมต้องมีกระบวนการจัดการอย่างจริงจังและได้ผล โดยมีผู้จัดการมืออาชีพ เช่น เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจัดกระ-บวนการ มีทีมวิชาการที่เข้าใจประเด็นที่เขากำลังคุยกันสามารถเลือกและสามารถเปิดโอกาสให้ผู้คนเสนอมาได้ทุกทาง ไม่ใช่แค่เวทีสัมมนา อาจจะส่งจดหมาย ใช้โซเชียลมีเดีย จัดประชุมกลุ่มเล็ก จัดรายการวิทยุโทรทัศน์ด้วย ถ้ามีกลไกการจัดการแบบมืออาชีพแบบนี้ได้ ฟังเป็น ฟังรู้เรื่อง คิดว่าการปฏิรูปจะเข้มข้นและสนุกสนาน
ทีมการเมือง ถามแย้งว่าปัญหาคือกลัว คสช.จะไม่รับข้อเสนอเหล่านี้ นพ.สมศักดิ์ บอกว่า ทีมวิชาการของ คสช.พูดชัดว่า จะทำให้ สปช.ทำงานง่ายขึ้น มีเวลาทำงานแค่ 1 ปี แทนที่จะเริ่มจากศูนย์ ก็มีกระบวนการทำการบ้านให้ก่อนล่วงหน้า
การรับฟังและมีส่วนร่วมมันไม่ได้จบง่ายๆ แม้มีการรวบรวมข้อมูลไว้มาก กระบวนการมีส่วนร่วมยังต้องมีอยู่ เป็นวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง จะเป็นตัวสำคัญที่กระตุ้นสังคมให้สนใจและมีส่วนช่วยการปฏิรูป
หัวใจของการปฏิรูปคือการมีส่วนร่วมแบบต่อเนื่อง เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ต้องมีกระบวนการนี้ต่อไป นพ.สมศักดิ์ บอกว่า เป็นโจทย์สำคัญต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อย่างน้อยกำหนดในหลักการว่า ต้องมีกลไกจะใช้โมเดล 1 หรือ 2 หรือ 3 มาดูแลการปฏิรูปเป็นส่วนคู่ขนานกับฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาล เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ คล้ายๆรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดหลักการให้ สปช.มีอำนาจหน้าที่ปฏิรูปประเทศ
ถ้าสังคมไทยเห็นด้วยว่าต้องมีกลไกนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นความโชคดีของประเทศ อย่าไปปล่อยให้เป็นความเข้าใจของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งว่า จะตั้งก็ได้ ไม่ตั้งก็ได้
ขอให้ฉายภาพการทำงานปฏิรูปประเทศร่วมกันระหว่าง คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สปช.กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นพ.สมศักดิ์ บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดอำนาจ หน้าที่ของแต่ละองค์กรชัดเจน
โดย คสช.ยังแอ็กทีฟอยู่ มีเป้าหมายปฏิรูประยะยาว คสช.ยังเชื่อมรัฐบาล สนช. สปช. และ สนช. และสปช.ยังเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกันมองอนาคตประเทศไทยผ่านการออกกติกาต่างๆ
สุดท้ายยังหวังว่ากลุ่มประชาสังคมที่สนใจเรื่องการปฏิรูปจะไม่หยุดอยู่เฉยๆ ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับรัฐบาล สปช. สนช.หรือไม่ ควรออกมาแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง
เช่น เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป สมาชิกเครือข่ายยังเชื่อมั่นเรื่องเหล่านี้อยู่ จะทำเวทีคู่ขนานเชิงสร้างสรรค์ ติดตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นใน สปช.
สนช. รัฐบาล และให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์
ทีมการเมือง ถามว่า ปัญหาติดอยู่ที่ท่าที คสช.ไม่ชอบให้กลุ่มประชาสังคมจัดเวทีเสนอความเห็น นพ.สมศักดิ์ ชี้ทางออกว่า ประเด็นอยู่ที่เนื้อหาและวิธีการเป็นเงื่อนไขสำคัญ
แม้ไม่เข้าใจวิธีคิดเรื่องนี้ของฝ่ายความมั่นคง แต่เป็นเรื่องที่ต้องหาสมดุลให้เจอ การไม่หาสมดุลและเริ่มด้วยการห้ามคงไม่ดีแน่
ในทางกลับกันการห้ามไม่ให้มาคุยกันให้ชัดในประเด็นการปฏิรูปอาจมีปัญหาตามมา กลายเป็นสร้างความแตกแยก สร้างความเข้าใจผิดได้
ทีมการเมือง ถามปิดท้ายว่า ปมนี้อาจนำไปสู่การปฏิรูปไม่สำเร็จได้ นพ.สมศักดิ์ บอกว่า น่าเป็นห่วงการปฏิรูปในระยะยาวจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้แยกระหว่างฝ่ายที่จะปลุกระดมสร้างความแตกแยก คิดว่ามันห้ามยาก ภายใต้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย และประเทศไทยเป็นประเทศเปิด
กับฝ่ายที่ต้องการปฏิรูป ในช่วงสังคมมีกระแสหลักเรื่องการปฏิรูป ต้องออกมาช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอ ถ้าสร้างพลังแห่งการมีส่วนร่วมไม่สำเร็จ ฝ่ายปลุกระดมสร้างความแตกแยกก็ยังมีพลังอยู่
เมื่อไม่สามารถกำจัดพลังเบี่ยงเบนทางลบได้ เรามีหน้าที่และมีโอกาสสร้างพลังทางบวก เพื่อดึงและชวนสังคมก้าวไปข้างหน้า สังคมไม่ควรตกอยู่ในโหมดมุ่งต่อสู้กันอย่างเดียว ควรออกมาร่วมเรียนรู้ ช่วยกันคิดและเสนอ
ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปไม่มีทางสำเร็จ.
ทีมข่าวการเมือง