คงไม่ต้องไปเสียเวลาลุ้นว่าใครจะเป็นประธาน สนช. เพราะเรื่องนี้มีการตกลงกันล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่ามีชื่อเดียวคือ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ที่ปรึกษากฎหมายของ คสช. ส่วน “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” อดีตประธาน ส.ว.ที่จะผลักดันให้ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตก็ได้ประกาศถอยไปแล้ว
นั่นเพราะก่อนที่จะประกาศรายชื่อ สนช.ชุดนี้ คสช.ได้ให้นายสุรชัยเสนอรายชื่อเข้ามาพิจารณาจำนวน 20 คนเพื่อให้มีการคัดเลือกมีเงื่อนไขว่าจะต้องสนับสนุนให้นายพรเพชรเป็นประธาน สนช.
“สุรชัย” ก็เอาเก้าอี้รองประธาน สนช.ไป 1 ตำแหน่ง
ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากการแต่งตั้งนายกฯที่ สนช.จะต้องมีการเสนอบุคคลที่เห็นสมควร แต่ก็ต้องเป็นมติของ สนช.ด้วย
แต่ที่เห็นและเป็นอยู่หลังการรายงานตัวในการเข้ารับตำแหน่ง สนช.นั้น ดูเหมือนว่าสมาชิกแต่ละคนล้วนมีความเห็นไปในทางเดียวกัน เพียงแต่จะใช้เหตุผลอย่างใดเท่านั้น
สรุปแล้วก็ชี้ไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ว่ามีความเหมาะสมมากที่สุดในสถานการณ์อย่างนี้
แม้ไม่ได้ตกลงกันมาก่อน แต่คำตอบตรงกันหมด
ก็ว่ากันไปครับ...แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ แม้ สนช.ชุดนี้จะมาจาก
กลุ่มไหน พวกไหน มีทหารเข้ามาเกินครึ่งเรียกว่า “สภาเขียว” ก็ว่าได้ ภารกิจ หน้าที่และสำนึกรับผิดชอบเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ให้ปรากฏ
นั่นคือสมาชิก สนช.ทุกคนจะต้องพึงสร้างผลงานที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างชัด โปร่งใส ไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆที่ไม่ถูกต้อง
ยิ่งในสภาที่ไม่มีฝ่ายค้านอย่างนี้ การพิจารณากฎหมายต่างๆจะต้องไม่ยอมให้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมผ่านไปได้
ไม่ว่าจะเข้ามาแบบตรงๆหรือสอดไส้เข้ามาก็ตาม
ภารกิจหลักๆก็คือการเลือกนายกฯ ให้คำปรึกษาในการบริหารประเทศตามที่นายกฯร้องขอ การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี การออกกฎหมาย เสนอชื่อสมาชิก 5 คน ร่วมในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ลงมติให้สมาชิก สนช.พ้นจากตำแหน่ง พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว
ปลดนายกฯได้ตามข้อเสนอของ คสช.
ที่ไม่มีก็คือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯหรือรัฐมนตรีอย่างที่สภาปกติสามารถกระทำได้ อันเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
มีอีกประเด็นหนึ่งที่ยังสับสนกันอยู่ก็คือการถอดถอนอันเป็นหน้าที่หลักของวุฒิสภา แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนฯ วุฒิสภาและรัฐสภาก็สมควรจะทำหน้าที่นี้ได้
เรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ด้านกฎหมายและเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่า หากเป็นเรื่องทุจริตและ ป.ป.ช.เสนอให้ สนช.พิจารณาก็ดำเนินการได้เลย
แต่ในประเด็นที่กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นต้องขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.ว่ามีกฎหมายกำหนดให้ สนช.สามารถถอดถอนได้หรือไม่
นี่จึงเป็นเรื่องที่ สนช.จะต้องพิจารณากันเองด้วย
ทั้งหลายทั้งปวง การทำงานของ สนช. แม้จะอยู่ในสภาพที่ไม่มีการ “ถ่วงดุล” ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนที่อยู่ข้างนอกก็ให้ความสนใจและติดตามการทำงานอย่างไม่กะพริบตาแน่
เพราะประชาชนคนไทยวันนี้ “ตื่นรู้” มากขึ้นเป็นลำดับ
ทางที่ดีก็คือ สนช.จะต้องพึงตระหนักในภารกิจและต้องรับฟังความคิดเห็น เสียงวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบ-แง่บวกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะใส่ใจรับฟังหรือทำเป็นหูทวนลม ไม่ยินดียินร้าย ไม่ใส่ใจด้วย
ก็ขอให้ดูรัฐบาลชุดที่แล้ว...เสียงข้างมากแต่จุดจบเป็นอย่างไร.