หลังจาก คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศและมีการดำเนินการต่างๆในระยะที่ 1 ที่จะก้าวไปสู่ระยะที่ 2 ซึ่งล่าสุดร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวได้เสร็จสรรพเรียบร้อยไปแล้ว น่าเชื่อว่ามีการเคาะกันไปแล้วก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้
ว่ากันว่าน่าจะมี 17 มาตราที่จะทำให้เกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูป นายกฯ และ ครม.ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่การเลือกตั้งในระยะที่ 3 ก่อนที่ คสช.จะสลายตัวไป
เท่าที่มีข้อมูลสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีสมาชิก 200 คน เพื่อทำหน้าที่ในการออกกฎหมายต่างๆโดย คสช.จะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาชีพในด้านต่างๆ
ใครเป็นใครกันบ้างก็ต้องดูกันต่อไป
นอกจากนั้นจะมีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน 250 คน เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม
การแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปจะมาจาก 2 ส่วน คือการสรรหาจากตัวแทนจังหวัด จังหวัดละ 50 คน เพื่อให้ คสช.เลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน เป็น 77 คน
ส่วนที่เหลือจำนวน 173 คน จะมาจากคณะกรรมการในภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน องค์กรประชาชนจำนวน 500 คน ให้ คสช.เลือกให้เหลือ 173 คน
ขณะเดียวกันก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 35 คน มีที่มาจากสภาปฏิรูป 20 คน สนช.จำนวน 5 คน คสช.จำนวน 5 คน และ ครม.อีก 5 คน
ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปได้ทำหน้าที่ออกแบบการปฏิรูปประเทศเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเสนอให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อยกร่างเสร็จเรียบร้อยก็จะเสนอให้ สนช.พิจารณาออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่ที่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น
ในส่วนของการบริหารประเทศนั้นจะต้องมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งนี้นายกฯจะต้องได้รับการเสนอชื่อโดย สนช.เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช.คือเต็งหนึ่ง
เมื่อได้นายกฯแล้วก็จะมีการแต่งตั้ง ครม.เพื่อเข้ามาทำงานในด้านบริหารประเทศซึ่งมีความสำคัญอีกส่วนหนึ่ง
นี่เป็นภาพกว้างๆในสถานการณ์ที่เป็นจริง
เหนืออื่นใดในการขับเคลื่อนประเทศจากนี้ไปแม้ คสช.จะแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่งจนได้รับความพึงพอใจจากประชาชน
แต่ปัญหาต่างๆที่ยังดำรงอยู่นั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความปรองดองเพื่อสลายสีเสื้อต่างๆ แม้จะมีความพยายามที่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ระดับหนึ่งซึ่งก็ยังเป็นเพียงแค่รูปแบบยังไม่ถึงจุดที่จะลึกลงไปในรายละเอียดว่าจะทำยังไงต่อไป
แม้จะผ่านไปสู่ระยะที่ 2 ได้แต่หากตรงนี้ไม่มีความชัดเจนก็ยากที่จะผ่านไปได้ง่ายๆ หากประชาชนยังติดหล่มอยู่ที่เดิม โดยเฉพาะยังมีแนวต้านจากอำนาจเก่าที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศและภายในประเทศที่ยังไม่กล้าแสดงตัวอย่างชัดเจนเพียงแต่ซุ่มรอเวลาเท่านั้น
ทั้งหลายทั้งปวงการเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งนี้ทุกอย่างมีความเชื่อมโยง กันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของ คสช.ในขั้นต่อไป
บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ทั้ง สนช. สภาปฏิรูป นายกฯ และ ครม. ก็เป็นปัจจัยสำคัญว่าจะได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน
ผลงานจากการเคลื่อนขบวนต่างๆ ผลออกมาดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย รวมถึงการปฏิรูปจะออกมาอย่างไรด้วย
ทุกอย่างล้วนเป็นเงื่อนไขที่ยึดโยงกันและเป็นตัวชี้สถานภาพของ คสช.ด้วย.