กลับเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเรียบร้อยไปแล้ว หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาธิการ สมช.และให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ
แต่ในฐานะตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงโดยตรง ยิ่งในสถานการณ์การเมืองที่ดำรงอยู่ในขณะนี้กลับไม่มีชื่อเป็นกรรมการ ศอ.รส.แต่อย่างใด
ตรงกันข้ามมีการแต่งตั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และ พล.ท.ภราดรเป็นกรรมการแทน โดยให้นายถวิลไปรับผิดชอบดูแลงาน 3 จังหวัดภาคใต้
การทำงานของนายถวิลคงจะยุ่งยากพอสมควร เพราะเป็นข้าราชการที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมรับจนเกิดปัญหาขึ้นมา
นั่นเป็นความก้าวหน้าอีกด้านหนึ่งที่คู่ขนานไปกับการที่นายกฯได้ส่งคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดีโยกย้ายนายถวิลที่ถูกร้องว่าเป็นการกลั่นแกล้งและแทรกแซงหรือไม่
ปฏิทินศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุให้ผู้ถูกร้องและผู้ถูกร้องฝ่ายละ 2 คน เข้าชี้แจงในวันที่ 6 พ.ค. 57 ซึ่งน่าจะจุดท้ายก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมา
ด้วยเงื่อนเวลาจึงคาดการณ์กันว่าคดีนี้จะรู้ผลภายในเดือน พ.ค.
แน่นอนว่าการชี้ขาดคดีนี้มีความสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาสาเป็น “คนกลาง” เพื่อเดินสายเจรจากับฝ่ายต่างๆ ล่าสุดได้พบกับ กกต.ที่ได้เสนอเงื่อนไขในการเลือกตั้ง
และยังไปพบกับนายบรรหาร ศิลปอาชา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการหาทางออกของประเทศ
ขณะที่ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ว. 50 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องเข้าสู่การถอดถอนและการดำเนินคดีทางอาญา อันต่างไปจากนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาที่กำลังรอขั้นตอนการถูกถอดถอน
นอกจากนั้น ยังมีมติไม่อนุญาตให้เพิ่มพยานจากการที่รัฐบาลได้ร้องขอจึงเท่ากับว่า ป.ป.ช.จะเดินหน้าที่ลงมติคดีรับจำนำข้าวที่นายกฯถูกร้องว่ามีความผิดหรือไม่ในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบ
นั่นแสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายเดินหน้ามาจนถึงจุดสุดท้ายที่จะวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวข้องกับสถานภาพของนายกฯและรัฐบาล
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าการที่นายอภิสิทธิ์พยายามที่จะเดินหน้าใส่เกียร์ห้าเพื่อเร่งรีบในการเจรจาหาทางออกให้ประเทศ
ก่อนจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.วินิจฉัยคดี
เช่นกัน ฝ่ายรัฐบาลได้แสดงอาการขานรับการเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์อย่างเต็มที่ นายกฯบอกว่า ขอเวลาให้นายอภิสิทธิ์ได้ทำงานก่อน
การแสดงท่าทีสนับสนุนนายอภิสิทธิ์อย่างออกหน้าออกตาทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เป็นคู่ปรับคนสำคัญ นั่นเป็นเครื่องบ่งบอกว่า หากนายอภิสิทธิ์สามารถหาทางออกได้ก็จะเป็นทางออกของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
กกต.รับปากนายอภิสิทธิ์ว่าจะนำข้อเสนอที่มีการพูดคุยกันไปบอกกล่าวนายกฯในการพบปะกันเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง
ซึ่งน่าเชื่อว่าคงจะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้โดยยึดเอาข้อเสนอแนะดังกล่าวมาเป็นตัวกำหนดเป็นการแลกเปลี่ยน
แบบ “หมูมาไก่ไป” ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน...ว่างั้นเถอะ
อันเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งได้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญและป.ป.ช.จะวินิจฉัย
เป็นการชิงจังหวะไปก่อนหนึ่งก้าวเพื่อความแน่นอนว่าต้องมีการเลือกตั้งแน่.