พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์ เฟซบุ๊ก แจงเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เทียบเศรษฐกิจประเทศกับการทำธุรกิจ แนะคนไทยอย่ากลัวเป็นหนี้ IMF ยังใช้คืนได้เร็วกว่ากำหนดมาแล้ว...
ความเคลื่อนไหว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากที่หันมาใช้สื่อออนไลน์เช่นเฟซบุ๊ก เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หรือความคิดของตนเองต่อสาธารณชนแล้วนั้น จากการตรวจสอบโพสต์ล่าสุดที่ถูกนำขึ้นเผยแพร่ เป็นการบอกกล่าวเรื่องราวเกี่ยวกับการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลไทยดำเนินการ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ อธิบายเปรียบเทียบเศรษฐกิจประเทศไทย กับการทำธุรกิจ โดยโยงถึงเรื่องการดูสัดส่วนของหนี้ ต่อต้นทุน ซึ่งเชื่อว่าการกู้เงินมหาศาลมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนี้จะส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อม ทางตรงคือเงินจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่วนทางอ้อมคือค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การใช้พลังงาน จะลดลง
ขณะที่ช่วงท้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ย้ำว่าไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องหนี้สิน พร้อมกับยกตัวอย่างการใช้หนี้ IMF ในอดีตที่ผ่านมา ที่สามารถทำได้เร็วกว่ากำหนด ซึ่งรายละเอียดของข้อความที่ถูกโพสต์ไว้มีดังนี้
...
อีกแง่มุมเพื่อความเข้าใจ โครงการ 2 ล้านล้าน
"ผมขอเล่าเศรษฐกิจประเทศเปรียบเทียบกับธุรกิจให้ฟัง ตอนสมัยผมทำธุรกิจ เวลาจะกู้หนี้ยืมสิน เขาจะดูสัดส่วนของหนี้ต่อทุนเพื่อรักษาไว้ไม่ให้เกิน 2 หรือมากสุด 2.5 เท่าต่อ 1 เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะแข็งแรง ส่วนเศรษฐกิจประเทศนั้นเขาจะรักษาสัดส่วนของหนี้ต่อ GDP ของประเทศไม่ให้เกิน 50% ถือว่าดีเยี่ยม ไม่เกิน 60% ถือว่ายังดีอยู่ แต่ประเทศที่มีฐานรายได้ทางภาษีใหญ่ๆ เขายอมให้สูงกว่านี้ เช่น ญี่ปุ่น มีหนี้เกือบ 200% ต่อ GDP แต่ตัวเลขของสัดส่วนย่อมเปลี่ยนไปถ้า GDP หรือเศรษฐกิจประเทศโตขึ้น เหมือนบริษัท ถ้าบริษัทมีรายได้มากขึ้น มีกำไรสะสมมากขึ้น สัดส่วนของหนี้ต่อทุน (ส่วนของผู้ถือหุ้น) ก็จะลดลง เพราะมีกำไรสะสมมาเพิ่มเช่นกันครับ
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล คือการลงทุนให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อม
ทางตรงคือเงินที่ลงทุนและไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทางอ้อมคือโครงสร้างพื้นฐานนั้นไปลดค่าใช้จ่ายทางการขนส่ง ลดการใช้พลังงาน ลดความสึกหรอของถนนที่มีอยู่เดิม ไปเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านความสะดวกในการสัญจร การเกิดกิจกรรมการค้าการขายมากขึ้น ที่ดินราคาดีขึ้นตามความเจริญที่เข้าถึง ความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศนำเงินเข้ามาลงทุน การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับค่าเครื่องจักร ค่าก่อสร้าง
ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าหนี้จะพุ่งข้างเดียวเพราะรายได้ก็พุ่งด้วย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงจะไม่สูงอย่างที่วิตก และก็ไม่ต้องรอว่าจะต้องใช้หนี้อีก 50 ปีจะหมด ดูตัวอย่างหนี้ IMF ที่เราใช้ได้เร็วกว่ากำหนด ทั้งนี้อยู่ที่ ใครสร้างเศรษฐกิจเป็น กับใครเป็นแต่ใช้จ่ายอย่างเดียว วิธีมองจึงต่างกันไปครับ"