ตุลาการศาลปกครองสูงสุด อธิบายละเอียดยิบ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องชดใช้คดีระบายข้าวจีทูจีอย่างไร เผยขั้นตอนจากนี้อยู่ที่ ก.คลัง ที่เป็นเจ้าหนี้จะต้องไปเรียกค่าชดใช้ 10,028 ล้าน จากอดีตนายกฯ


วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะกรรมการประชาสัมพันธ์ ศาลปกครอง ชี้แจงเพิ่มเติมคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องชดใช้ความเสียหายคดีโครงการรับจำนำข้าว เฉพาะในส่วนระบายข้าวจีทูจี 10,028 ล้านบาท ว่า คดีนี้เป็นการฟ้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งโดนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่เรียกให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมโครงการจำนำข้าวเปลือกไป 3.5 หมื่นล้านบาท

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเอาคำสั่งนี้มาฟ้องต่อศาลว่าคำสั่งนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ศาลก็ได้ทบทวน โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการจำนำข้าวนั้นประกอบด้วยหลายขั้นตอน จึงวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในส่วนที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายนั้นไม่ต้องมีความรับผิด แต่ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ คือเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการปฏิบัตินโยบาย ดังนั้น การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี มีปัญหาการทุจริต มีการรายงานเข้ามาโดยหลายหน่วยงาน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ติดตามกำกับดูแลตรวจสอบการทุจริตในส่วนนี้

“ดังนั้นเฉพาะในส่วนนี้ที่ศาลปกครองเห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่กระทรวงการคลังเขาเรียกมา 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ศาลตรวจสอบแล้วว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ เป็นตัวเลขเพียงแค่ 10,028 ล้านบาท เนื่องจากโครงการจีทูจี ดังนั้นผลของคดีศาลถึงบอกว่าคำสั่งเรียกเงินนั้นชอบบางส่วนและไม่ชอบบางส่วน ส่วนที่ชอบด้วยกฎหมายก็คือ 10,028 ล้านบาทนี้ กระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ต้องไปดำเนินการเรียกจากคุณยิ่งลักษณ์ต่อไป”

...

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องออกคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้เงินดังกล่าวภายในกรอบระยะเวลาเท่าใด น.ส.สายทิพย์ ตอบว่า อันนี้เป็นขั้นตอนเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ความรับผิดทางละเมิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเรื่องนี้คือกระทรวงการคลัง เขาก็ต้องไปออกมาตรการ อาจจะเป็นการแจ้งให้เอาเงินมาชำระ ถ้าหลังจากนั้นยังไม่มีการชำระอาจจะมีการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินต่อไป ก็เป็นกระบวนการของเจ้าหนี้กับลูกหนี้ปกติ ซึ่งตอนนี้กระทรวงการคลังถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ต้องไปตามเอาค่าเสียหายคืนมา ส่วนทางฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งถือเป็นลูกหนี้ จะมีการเจรจาหรือประสานงานกับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ที่ต้องออกคำสั่งให้ใช้เงิน เขาก็ต้องเจรจาตกลงกันไป ซึ่งเรื่องระยะเวลาก็จะขึ้นอยู่กับกฎหมายของกระทรวงการคลัง

ส่วนคำถามว่าทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะมีการหักลบกลบหนี้กับยอดขายข้าวก่อนหน้านี้ เพื่อที่สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะไม่ต้องจ่ายสักบาท จริงๆ แล้วสามารถหักลบกลบหนี้ได้หรือไม่ น.ส.สายทิพย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะไปพูดถึงหักลบกลบหนี้กันได้หรือไม่ สำหรับคดีนี้ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้นถือว่าสิ้นสุดแล้วในทางปกครอง ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด กรณีที่จะเกิดการทบทวนขึ้นใหม่ จะอยู่ในมาตรา 75 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง โดยสาระสำคัญเขียนว่า กรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ซึ่งขณะนี้คดีนี้ก็เป็นเช่นนั้น

ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีส่วนได้เสียอาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิพากษาคดีนั้นใหม่ได้มี 4-5 เงื่อนไข แล้วเงื่อนไขที่ทนายความอ้างถึง เช่น อาจจะขอให้พิจารณาได้ถ้ากรณีคำพิพากษานั้นทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริง แล้วมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ เช่นที่เขาอ้างว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ต้องผ่านขั้นแรกมาก่อน คือคำขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 90 วัน ศาลก็พิจารณาว่ามีเหตุตามเงื่อนไขของมาตรา 75 นี้หรือไม่.