“ลุงช่าง” จากแพลตฟอร์ม “คุยกับลุงช่าง” ที่มีผู้เข้าชมสูงกว่า 943K ตั้งข้อสังเกตว่า มากกว่า 1 เดือนแล้วที่พวกเรายังไม่ได้อะไรเลยจากการถล่มลงของอาคาร 30 ชั้นของ สตง.หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา แม้จะพบพิรุธจากซากตึกมากมาย แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ว่าใครคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ!
“เรื่องนี้ครับ ลุงช่างเปรียบเหมือนโต๊ะกินข้าวบุฟเฟต์ที่มีคนมากินบุฟเฟต์ แล้วถือยำมาคนละจาน พูดง่ายๆ คนละยำเอายำมากินรวมกัน มันจึงเกิดเหตุการณ์นี้”
ลุงช่าง ไม่ได้ว่าใครนะ...ขอบอกก่อน แต่ความเห็นของลุงช่าง ตรงกับความเห็นของคนไทยจำนวนมากที่รอคอยคำตอบอยู่อย่างใจจดในจ่อ เพราะงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารหลังนี้ มีมูลค่าสูงกว่า 2,100 ล้านบาท รวมเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งหะรูหะหราอีกมากมายที่มีราคาเกินกว่าความเป็นจริงไปไม่น้อย
ผลจากการตรวจสอบของ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พบข้อพิรุจที่ผู้คนอย่างเราๆ ท่านๆ ยังไม่รู้อีกหลายเรื่องที่จะต้องส่งให้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร พิจารณา อาทิ…
1. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เบิกเงินงบประมาณไปทำการก่อสร้างอาคารหลังนี้แล้ว 900 ล้านบาท
2. อาคารหลังนี้ ควรจะก่อสร้างในพื้นที่ 16 ไร่ 2 งาน 69 ตร.วา ที่จังหวัดปทุมธานีตามที่เคยขอจากกรมธนารักษ์ไว้ โดยมีงบประมาณเพื่อการก่อสร้าง 1,488 ล้านบาท
ในพื้นที่เดิม อาคารสำนักงานใหม่ของ สตง.ได้รับการออกแบบก่อสร้างไว้แล้วโดย กิจการร่วมค้า Cabinet อาวุธ เงินชูกลิ่น ด้วยค่าออกแบบ 25.8 ล้านบาท พร้อมอาคารสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติวงเงิน 338 ล้านบาท มีงบค่าควบคุมการก่อสร้างสถาบันนี้ 5.9 ล้านบาท
...
จากการเปิดเผยของ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ุ เขาระบุว่า อาคารหลังนี้ได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบไว้ตั้งแต่สมัย คุณหญิงเป็ด จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าฯสตง.ผู้อื้อฉาว
ก่อนที่ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส จะเข้ารักษาราชการแทนในปี 2555 และได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ สตง.คนต่อมาในปี 2557 ทั้งยังรักษาการต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปี 2563
นายพิศิษฐ์ เป็นผู้ทำจดหมายถึงกรมธนารักษ์ ขอคืนพื้นที่นี้ในช่วงรักษาการ และมาใช้วิธีเช่าพื้นที่ใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ที่บริเวณตลาดนัดสวน จตุจักรในพื้นที่ 10 ไร่ 3 งาน
โดยให้บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค และ ไมน์ฮาร์ท (ประเทศไทย) ออกแบบอาคารใหม่ วงเงิน 73 ล้านบาท และให้กิจการร่วมค้า อิตาเลี่ยนไทย-ไชน่า เรลเวย์ นัม เบอร์ 10 ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท พร้อมงบค่าควบคุมงานก่อสร้างอีก 76.58 ล้านบาทที่ต้องจ่ายให้ กิจการร่วมค้า PKW
3. การตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ยังพบว่า บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างหรือกิจการร่วมค้าดังกล่าว ไม่ได้ทำประกันภัย และประกันชีวิตให้แก่ผู้รับจ้างแรงงานตามกฏข้อบังคับของกฏหมายแรงงานด้วย ซ้ำยังไม่พบตัวตนของบริษัทที่ทำการควบคุมงานก่อสร้างที่สตง.ได้จ่ายเงินไปแล้วด้วย
การไม่ได้ทำประกันภัย และประกันชีวิตดังกล่าว จะมีผลให้ผู้ประสบภัย ทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และบุคคลที่ 3 ได้รับเบี้ยประกันเมื่อเกิดความวิบัติจากการถล่มลงของอาคารสตง.ด้วย
4. กรมบัญชีกลาง ได้เก็บข้อมูลที่ได้จาก ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต และวุฒิวิศว ที่ได้จัดทำภาพเคลื่อนไหวของการวิบัติลงของอาคารสตง.เป็นหลักฐานประกอบข้อวินิจฉัยว่า อาคาร สตง.ได้วิบัติลงในแบบขนมชั้นหรือแพนเค้กอันเป็นข้อห้ามทางโครงสร้างวิศวกรรมอย่างฉับพลันภายในเวลาเพียง 8 วินาทีซึ่งทำให้แรงงานที่กำลังทำงานอยู่ ไม่มีโอกาสหนีเอาตัวรอด
โดยตั้งสมมติฐานข้อแรกว่า ความวิบัตินี้เกิดจากกำแพงปล่องลิฟต์ชั้นล่างสุดแตกยุ่ย ทำให้อาคารซึ่งสร้างมานานเกิดการบิดตัว ขณะที่เสาด้านหน้าสองต้นหักโค่นลงมีผลให้อาคารยุบตัวลงทันที
ถ้าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลน และใช้วัสดุที่ถูกต้อง ไม่มีทางที่อาคารจะวิบัติลงได้ ข้อสันนิษฐานนี้ ในที่สุดมีการตรวจสอบพบตรงกันว่า ปล่องลิฟท์ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของอาคารถูกย้ายที่ไปอยู่ด้านหลัง ไม่ได้อยู่ตรงกลาง
ถ้าผู้ออกแบบต้องการจะสร้างปล่องลิฟท์ให้ไปอยู่ด้านหลังก็พึงสังวรว่าต้องมีการป้องกันการบิดตัวของอาคารไว้อย่างรอบคอบ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องไปตรวจสอบให้ดี ก็คือ แบบแปลนการก่อสร้างว่าได้มีการก่อสร้างผิดแบบหรือไม่ รวมทั้งเหล็กเส้น และปูน/คอนกรีตที่ใช้ด้วย
5. กรมบัญชีกลาง พบว่า ไม่เคยมีหน่วยงานใดเก็บเงินที่เบิกไปจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่ได้ใช้ ได้มากมายเกือบ 3,000 ล้านบาท แม้จะมีข้อบังคับว่าหน่วยงานที่ใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่ทัน จะต้องนำเงินมาคืนตามระเบียบงบประมาณก็ตาม
หลังการตรวจสอบในปี 2557 กระทรวงการคลัง มีบันทึกว่า สตง.มีการบริหารงบประมาณไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีเงินเหลือ จากปี 2550 - 2557 มากถึง 1,988 ล้านบาท
กระทรวงการคลังได้รายงานให้ หัวหน้าคสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)ขณะนั้นทราบ แต่ก็ไม่ได้มีการจัดการใดๆ ในปีต่อมา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง รายงานรัฐบาลว่า ในปี 2550 - 2559 สตง.มีเงินเหลือจ่ายฝากบัญชีธนาคารไว้สูงถึง 2,945 ล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นงบที่ใช้ไม่หมด 1,953 ล้านบาท และ เป็นเงินนอกงบประมาณอีก 992 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณนี้ นัยว่า ได้จากการรับจ้างตรวจสอบบัญชีให้แก่หน่วยงานรัฐด้วยกันเอง
ผลการตรวจสอบทั้ง 5 รายการนี้ จะสรุปส่งให้นายกฯแพทองธารในเร็ววันนี้เพื่อ พิจารณาว่า ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ และ มีความเกี่ยวข้องกับผู้ว่าฯสตง.คนใดหรือไม่
ความวิบัติครั้งนี้ ถ้าเอาคนผิดมารับผิดชอบไม่ได้ ก็หมายความว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถจะจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรับชั่นที่เห็นกันจะจะนี้ได้