กมธ.อุตสาหกรรม เผยต้องจัดการผลทดสอบเหล็กก่อสร้างให้รอบคอบรัดกุม ป้องกันคนผิดหลุดรอดเงื้อมมือกฎหมาย ย้ำเหล็กจากโรงงาน SKY ยังผลิตไม่ได้เนื่องจากยังไม่ผ่านเกณฑ์ มอก. ชม “เอกนัฏ” เดินหน้าเพิกถอน BOI รวดเร็ว เชื่อไม่มีปัญหาเพราะดำเนินการตามขั้นตอน
วันที่ 10 เมษายน 2568 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม แถลงข่าวที่อาคารรัฐสภา ว่า วานนี้ (9 เมษายน 2568) ในการประชุม กมธ.อุตสาหกรรม มีการพิจารณาเรื่องปัญหาการนำเหล็กก่อสร้างที่อาจไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อันอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งให้เกิดการพังทลายของอาคารดังกล่าว โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมโยธาธิการและผังเมือง, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ทั้งนี้ กมธ.อุตสาหกรรม ได้พิจารณาในเรื่องมาตรฐานของสินค้าที่ผลิตจากโรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะในกรณีนี้คือเหล็ก สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของการที่ตึก สตง. ถล่มนั้นเกิดจากสาเหตุใด ต้องรอการสรุปผลจากกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งอีกครั้งหนึ่ง พร้อมระบุ 3 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 ทาง สมอ. ได้มีการเก็บตัวอย่างเหล็กเพื่อตรวจสอบ 9 รายการ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่ามี 2 รายการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ สมอ. ได้แก่ ประเภท DB20 ไม่เป็นไปตามมาตรฐานมวลต่อเมตร และประเภท DB32 ตกคุณสมบัติทางกล ประเภทค่า yield
ซึ่ง กมธ.อุตสาหกรรม มีข้อกังวลถึงมาตรฐานของ สมอ. ที่ใช้สำหรับเหล็กก่อนการก่อสร้าง สำหรับข้อกังวลนี้ทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติได้ให้ข้อมูลว่าสำหรับการนำเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างแล้วมาทดสอบ ตามหลักการที่ก่อนอาคารจะถล่มนั้นเหล็กทุกๆ เส้นได้มีการรับแรงดึงแล้ว เช่นเดียวกับคอนกรีตในอาคารที่ได้รับแรงอัด อาจจะทำให้ผลการทดสอบตามมาตรฐานของ สมอ. มีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากมาตรฐานของ สมอ. มาจากเหล็กใหม่ก่อนใช้งาน
...
ทาง กมธ.อุตสาหกรรม จึงได้ให้ข้อเสนอแนะว่าจะต้องตรวจสอบให้รอบคอบและรัดกุม โดยมีหลักวิชาการเพื่อให้พิสูจน์ได้ว่าเหล็กดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานแม้จะเป็นเหล็กใช้แล้วก็ตามเพื่อให้สิ้นข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทางรัฐบาลเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้องรัดกุม เพื่อป้องกันคนผิดลอยนวลและเพื่อความยุติธรรม

ประเด็นที่ 2 การขออนุญาตก่อสร้างและการตรวจสอบมาตรฐานของวัสดุก่อสร้าง ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่าสำหรับอาคารของราชการนั้นได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้าง เป็นการแจ้งเพื่อทราบแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตการก่อสร้างเท่านั้น แต่ถึงอย่างไร ก่อนที่จะมีการใช้วัสดุในการก่อสร้างต้องมีการเก็บตัวอย่างของวัสดุการก่อสร้างทั้งเหล็กและคอนกรีตไปทดสอบมาตรฐานเสียก่อน ซึ่ง กมธ.อุตสาหกรรม ได้พิจารณาจะออกหนังสือเพื่อขอเอกสารการตรวจสอบดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเปรียบเทียบมาตรฐานการทดสอบกับเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างจริง เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป
ประเด็นที่ 3 ในข้อสงสัยของสังคมที่ว่าทาง สมอ. ได้มีการอนุญาตให้ปลดคำสั่งการอายัดเหล็ก และให้ทางโรงงานซินเคอหยวน กลับมาผลิตได้อีกครั้ง ประเด็นนี้ทาง สมอ. ชี้แจงว่าได้มีการตรวจสอบมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็กในช่วงเดียวกับที่ทางโรงงานเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2567 พบว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานของ สมอ. 2 ประการ คือ
1. ไม่ปฏิบัติตามวิธีควบคุมคุณภาพอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือ QC ตามมาตรา 25 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
2. ผลิตภัณฑ์เหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม 2 รายการ โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางกล หรือทางเคมี จึงเป็นเหตุให้มีการอายัดเหล็กเส้นมากกว่า 40,000 เส้น ซึ่งทางโรงงานจะต้องดำเนินการแก้ไขตามข้อสั่งการของเจ้าหน้าที่ สมอ. ให้เรียบร้อยก่อนเดินเครื่องการผลิตเพื่อจำหน่ายและทดสอบผลิตภัณฑ์ให้ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ก่อนที่จะได้มีการจัดจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันทางโรงงานไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากการสั่งปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่สามารถทดสอบมาตรฐานดังกล่าวได้
จึงขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน ในช่วงนี้ที่มีการกล่าวอ้างในสื่อโซเชียล

ประเด็นที่ 4 การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เคยให้ไว้ ในกรณีนี้ทาง กมธ.อุตสาหกรรม ได้มีการติดตามตั้งแต่เหตุการณ์เครนถล่มในโรงงานแห่งที่ 2 ของบริษัทเดียวกันเมื่อเดือนมีนาคม 2567 โดยทาง BOI ได้ให้ข้อมูลแก่ กมธ.อุตสาหกรรม ว่า จะมีการถอนสิทธิประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อทางโรงงานมีการละเมิดกฎหมาย ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งบันทึกการละเมิดกฎหมายมายัง BOI
สำหรับกรณีนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีการส่งบันทึกถึงการละเมิดกฎหมายของโรงงานทั้งกรณีการสั่งปิดโรงงาน และการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดังกล่าวแล้ว คาดว่าทาง BOI น่าจะสามารถดำเนินการเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตามที่เคยได้ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการต่อไป
“สุดท้ายนี้ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมขอชื่นชมการทำงานอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมาเพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม และพี่น้องประชาชนของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม”
