“จุลพันธ์” แจงเหตุผลผลักดัน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ยืนยันไม่ได้รีบเร่งแต่ใช้เวลาปรับปรุงให้รอบคอบนานหนึ่งปีครึ่งแล้ว วอนกลุ่มเห็นต่างอย่าหมกมุ่นแค่ “กาสิโน”

วันที่ 7 เมษายน 2568 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐทีวีถึงประเด็นร้อนที่รัฐบาลเลื่อนร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้าพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 9 เมษายนนี้ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เร่งรีบ แต่กรอบเวลาดำเนินมาตามขั้นตอน เพราะรัฐบาลทำเรื่องนี้มาตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ใช้เวลาหนึ่งปี จนมาถึงขั้นตอนผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขจนมาถึงวันนี้ใช้เวลาหนึ่งปีครึ่ง ยอมรับว่าเหตุผลที่ต้องเลื่อนวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาก่อน อยากจะทำให้เสร็จสิ้นภายในสมัยประชุมนี้ ที่สำคัญได้พิจารณาแล้วว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมากโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว “จึงคิดว่าอย่างน้อยในสมัยของสภาฯ ชุดนี้ ควรทำกฎหมายให้เสร็จเรียบร้อยรอบคอบรัดกุม มีกลไกที่ครบถ้วน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. เมื่อเข้าสู่สภาแล้วจะปรับแก้หรือปรับแต่งเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เป็นห่วงตรงไหนก็แก้ไป เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว หากหมดวาระของรัฐบาลชุดนี้ เลือกตั้งมาครั้งหน้า หากพรรคไหนเห็นชอบ ก็ให้บอกมาเลยว่า มี หรือไม่มี ให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลชุดนั้นไป” นายจุลพันธ์ กล่าว

ห่วงกระทบความเชื่อมั่น

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามทำทุกเรื่องให้เสร็จเรียบร้อย ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่เร่ง เช่นเดียวกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ที่จะเข้าพิจารณาในวันที่ 9 เมษายนนี้ เป็นเรื่องที่ไม่มีความซับซ้อน ไม่เหมือนกับดิจิทัล Wallet ที่ต้องทำระบบและข้อมูลเป็นเวลานาน “ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นกฎหมายฉบับเดียวที่ทำประชาพิจารณ์มากที่สุด เพราะทำถึงสี่รอบ มีคนให้ความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากเห็นชอบ ถามว่าเร็วไปไหมก็ไม่เร็ว เพราะหากนำไปพิจารณาในสมัยประชุมหน้าและอายุรัฐบาลเหลือแค่หนึ่งปีหกเดือน ก็สุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ทัน ถ้าไม่ทันขึ้นมา สุดท้ายผลกระทบก็คือ ต้องเริ่มใหม่ สิ่งที่เราวาดฝันไว้ก็หาย ผลกระทบที่ตามมาคือสิ่งที่รัฐบาลพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติหลายโครงการก็จะทำให้ความเชื่อมั่นของประเทศไทยลดลง”

...

วอนอยู่กับความเป็นจริง

ต่อข้อถามว่าทำไมความรู้สึกของคนไทยถึงเชื่อว่าการทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หมายถึงกาสิโน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่เท่ากับ “กาสิโน” เพราะมีกาสิโนไม่เกิน 10% ของกฎหมาย ซึ่งต้องขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่แก้ไขมาให้มีความชัดเจนขึ้น และกาสิโนก็เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการลงทุน โดยที่รัฐไม่ลงทุนเม็ดเงิน องค์ประกอบส่วนหนึ่งของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต้องมีกาสิโน แต่การกำกับดูแลผ่านกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญและจะสามารถทำให้การกำกับดูแลช่วยลดผลกระทบในเชิงลบได้

“วันนี้เราต้องอยู่กับความเป็นจริง เราไม่ได้เป็นรัฐบาลที่อยู่ในโลกสวย รู้อยู่ว่ารอบประเทศเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่ากาสิโนอยู่แล้ว ทั่วทุกภูมิภาคทุกมุมของประเทศ ลูกค้าหลักของสถานที่เหล่านั้นคือคนไทย 90% ในขณะที่ในประเทศไทยเองก็มีบ่อนที่ผิดกฎหมายต้องมานั่งไล่จับแต่ก็ไม่หมด สิ่งหนึ่งที่จะแก้ไขได้ก็คือต้องมีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่มีส่วนประกอบของกาสิโนด้วย จะสามารถดึงให้คนเหล่านั้นกลับมาอยู่ในสายตาของรัฐได้” นายจุลพันธ์กล่าว

90%ขับเคลื่อนธุรกิจ

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึง การออกมาคัดค้านของหลายกลุ่มในสังคม ที่ไม่เอากาสิโนและตั้งโต๊ะ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้ ครม. เห็นชอบทำประชามติ ว่าการทำประชามติแต่ละครั้งใช้เงิน 3,000-4,000 ล้านบาท ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาสั่งได้ ส่วนกลไกภายนอกที่ไม่เห็นชอบด้วยก็ถือเป็นสิทธิ์ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะชี้แจงทำความเข้าใจ รัฐบาลอยากจะชี้ให้เห็นจุดใหญ่ 90% ของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศทั้งธุรกิจและหมุนเงินให้ถึงมือประชาชน

ขอร้องอย่าหมกมุ่นแต่ กาสิโน

“อย่าไปหมกมุ่นหรือเป็นห่วงกับเรื่องกาสิโนเพียง 10% จนกระทั่งมองทุกอย่างไม่เห็น” และย้ำว่าการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ทำงานกันมาตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐาจนถึงนายกฯ แพทองธาร เอาแค่เรื่องของดิจิทัล Wallet ที่บอกกันว่าไม่ตรงปก แต่พวกตนก็บอกว่ามันตรงเป้าเพราะเงินถึงมือประชาชน นั่นเพราะเรารับฟังและปรับแก้จนให้มีความเหมาะสมที่สุด เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ตนเองได้มีโอกาสพูดคุยและทำความเข้าใจกับคนที่คัดค้าน ในเวทีเสวนา ซึ่งบอกไปว่าเมื่อถึงกระบวนการในสภาฯ ก็จะเชิญคนที่ไม่เห็นด้วยมารับฟังข้อคิดเห็น “ผมก็ไม่ได้บอกว่าขอให้คนที่คัดค้านเปลี่ยนมาสนับสนุน เพราะตัวท่านเองก็ไม่ต้องมาชักจูงเราให้เปลี่ยนใจไม่ทำ แต่จะเอาความเห็นของแต่ละคนมาวางบนโต๊ะแล้วถอยคนละก้าวปรับตรงไหนได้เพื่อให้เกิดความสมดุลที่สุด”

มั่นใจพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบ

เมื่อถามย้ำว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีพรรคไหนที่ยังเห็นต่างหรือมีปัญหา นายจุลพันธ์ กล่าวว่าไม่มี ช่วงที่นำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ก่อนเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นหลากหลาย แต่สุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ก็รับความเห็นเหล่านั้นไปปรับแก้ในประเด็นที่เป็นความเห็น ครม. เมื่อนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งก็ไม่มีข้อท้วงติงใดๆ ทุกคนทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบไม่ขัดข้อง

วาดฝันรายได้ปีแรก 1แสนล้าน

ด้าน นายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยไม่ได้มีเมกะโปรเจกต์มานานแล้ว เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ถือเป็นโครงการแรกๆ ถ้าเกิดได้ ตั้งเป้าไว้ 1 แสนล้านบาท ยกตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ มีรายได้จากเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ปีละ 430,000 ล้านบาท และเก็บภาษีได้อีกปีละ 81,000 ล้านบาท จากรายงานของซิตี้กรุ๊ปพบว่าหากประเทศไทยเดินหน้าโครงการนี้ได้ ภายใน 6 ปีจะมีรายได้แซงสิงคโปร์แน่นอน และจะขยับขึ้นเป็นอันดับสามของโลก รองจากมาเก๊าและลาสเวกัส หากดูประเทศที่ได้กำไร 10 อันดับ หนึ่งในสี่อันดับแรกอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นแสดงว่าภูมิภาคนี้มีความพร้อมอย่างมากที่จะทำ ถือว่าประเทศไทยตัดสินใจทำเรื่องนี้สายไปด้วยซ้ำที่จริงควรจะทำมานานแล้ว หากยังมัวแต่ลังเลกันอยู่ ก็จะยิ่งทำให้สูญเสียรายได้และเม็ดเงินมหาศาล