สตง.ถล่มเพราะ 3 ปัจจัย
ถึงเวลา “กสทช.”ต้องไป
การค้าเสรีสิ้นสุดลงแล้ว
สัปดาห์นี้ มี 3 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกันที่อยากนำมาเล่าให้ฟัง เพราะไม่อยากให้เรื่องใดหลุดไปสักเรื่อง
เรื่องแรก...สูดลมหายใจลึกๆ
ในที่สุด คนไทยก็ได้ทราบชัดแจ้งว่า แผ่นดินไหวไม่ได้ทำให้คนเสียชีวิต แต่การก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานต่างหาก ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องมาจบลง ล่าสุด 17 ราย บาดเจ็บ 34 ราย และ สูญหาย 76 ราย(ตัวเลขเมื่อวันที่ 5เม.ย.68)
จากการเก็บชิ้นส่วนเหล็กเส้นแต่ละชนิดไปตรวจสอบ รมว.อุตสาหกรรม “ขิง” เอกนัฎ พร้อมพันธ์ุ ยืนยันว่า เหล็กที่นำไปใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงาน สตง. เป็นเหล็กที่บริษัทร่วมค้าจากจีนที่ชื่อ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ซื้อจากโรงงาน ซิน เคอ หยวน(SKY) ซึ่งตนได้มีคำสั่งปิดไปเมื่อ 3 - 4 เดือน หลังเข้าไปตรวจสอบโรงงานแล้วพบว่าเป็นเหล็กด้อยคุณภาพมาตรฐานจากจีน
การตรวจสอบเบื้องต้น คณะกรรมการตรวจสอบจาก DSI(กรมสอบสวนคดีพิเศษ) และกระทรวงมหาดไทยพบว่ามีความน่าจะเป็น 3 อย่างในการก่อสร้างอาคารแห่งนี้ ได้แก่ 1.ฮั้วประมูล 2.ผิดพรบ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว และ 3.วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
ซ้ำยังมีรายงานจากกรมสรรพากรด้วยว่า SKY ทำเอกสารใบกำกับภาษีปลอมระหว่างปี 58 - 60 มากถึง 7,426 ฉบับ รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 สามารถทะลวงล้วงลึกเข้าไปเป็นคู่สัญญารับเหมางานราชการไทยในฐานะกิจการร่วมค้าได้มากถึง 22 สัญญา วงเงิน 7,300 ล้านบาท หลังได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ให้เข้ามาตั้งกิจการผลิตเหล็กเส้นแข่งกับคนไทยได้(การเข้าไปเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานของรัฐ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกทม.หรือท้องถิ่น)
...
แม้จะมีความชัดเจนว่า อาคารสำนักงาน สตง.เป็นอาคารเดียวที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมาที่ถล่มลงจนสร้างสถิติใหม่ให้กับประเทศไทย แต่ ผู้ว่าการ สตง.และผู้บริหารระดับสูง ก็ไม่แม้แต่จะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิต และทรัพย์สินที่เสียหายไป นอกจากออกแถลงการณ์ภายในให้พนักงาน สตง. ...สูดลมหายใจลึกๆ จับมือกันให้แน่น แล้วก้าวเดินไปข้างหน้าต่อไป...ส่วนจะไปไหน ไปขึ้นศาล หรือ ไปเข้าตะแลงแกง ขึ้นอยู่กับหลักฐานเรื่องที่สอง Cell Broadcast...ไม่ทำงาน
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ถึงกับต้องเรียกประชุม รองนายกฯ และรมว. กระทรวงดีอี รวมถึงผู้เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบระบบ Cell Broadcast หรือวิธีการส่งข้อความสั้นๆ ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในคราวเดียวกัน เพื่อเตือนกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น เหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.68
อย่างน้อยก็เพื่อบรรเทาความตื่นตระหนกของประชาชน และได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าพวกเขาควรปฏิบัติตนเช่นไรในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อันที่จริง หลายครั้งที่เกิดภัยพิบัติ เช่น พายุฤดูร้อนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เขื่อนทรุด ไปจนถึงสึนามิ ซึ่งเกิดมาตั้งแต่ปลายปี 2547 คนไทยจำนวนมากได้เรียกหาข้อมูล และการส่ง SMS จากทางการเพื่อจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน
พร้อมๆ กับวิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีข้อความใดส่งถึง แม้ระบบแจ้งเตือนภัยจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันทั่วโลกแล้วก็ตาม
หลังเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยมี กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม จัดสรรคลื่น และการประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมทุกประเภท รวมค่ายมือถือทั้ง ทรูคอร์ป เอไอเอส และกระทรวงดีอี เพื่อร่วมกันหาทางออกของเรื่องนี้
ที่สุด ความจริงที่ซ่อนอยู่ใต้พรมเช็ดเท้า ก็ปรากฏขึ้นหลายประการด้วยกัน เริ่มต้นจาก 1.คณะกรรมการกสทช. ซึ่งมีอยู่ 7 คน แตกแยกกันรุนแรง การนำเสนอโครงการเพื่อพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศ จึงไม่เกิดขึ้น
เพราะต่างยกมือไม่เห็นด้วยกับโครงการที่อีกฝ่ายนำเสนอ เช่น การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz(5G) รอบใหม่ ในขณะที่ยังไม่มีเงื่อนไขชัดเจนว่าจะมีการแย่งสัญญาณการออกอากาศกันกับทีวีดิจิทัลที่เปิดประมูลไปก่อนหน้า และยังไม่หมดสัญญาเลย
2.การไม่พัฒนากิจการโทรคมนาคม และระบบการแจ้งเตือนภัย ทำให้ค่ายมือถือต่างๆ ไม่สามารถแจ้งข้อความ SMS ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้
เพราะทั้ง กสทช. และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รวมถึงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังหาคนเขียน ออกแบบ หรือสร้างข้อความเตือนภัย เพื่อส่งต่อให้แก่ค่ายมือถือเพื่อเตือนผู้ใช้โทรศัพท์ไม่ได้
สำคัญที่สุดคือ ข้อ 3.ประธานกสทช. คือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ออกคำสั่งย้ำว่า เขามีอำนาจควบคุมสำนักงานกสทช.แต่เพียงผู้เดียวตามกฏหมาย และ ห้ามผู้ใดออกคำสั่งให้ดำเนินงานเรื่องใดๆ นอกจากเขา
ที่ผ่านมา นพ.สรณ หรือ “หมอไห่” ซึ่งนัยว่า เป็นหมอผ่าตัดโรคหัวใจให้ “บิ๊กทหาร”หลายคน มักจะถูกร้องเรียนเสมอว่า ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการกิจการใดๆ ในอำนาจของกสทช.เลย
แต่ก็นั่นแหละ ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาภายในกสทช. ปลด นพ.สรณ หรือ โละบอร์ดกสทช.ทั้งหมดเพื่อให้การพัฒนากิจการโทรคมนาคมของไทยก้าวไปข้างหน้า เพื่อสู้กับประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ และหลายประเทศในภูมิภาคได้
มีเพียง นายกรัฐมนตรี คนเดียวที่สามารถใช้ความกล้าหาญแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการเสนอ ปลด นพ.สรณ ออก หรือ ปลดบอร์ดออกทั้งคณะ แล้วแต่งตั้งผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ เข้าไปทำงาน
เรื่องสุดท้าย เรื่องที่ 3 ...ล้มระบบการค้าเสรีของโลก
คงเป็นที่ทราบชัดตามคำแถลงของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ว่าไทยอยู่ในบัญชีที่ถูกเขากล่าวหาว่าเป็น “15 Dirty Country” ที่สหรัฐฯต้องตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าหนักๆ ในอัตรา 10 - 54%
เหตุเพราะสหรัฐฯถูกกีดกันการค้ามานาน และขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯสูงรวมๆ กันกว่า 60 ประเทศถ้วนหน้า โดยไทยถูกกล่าวหาว่า ตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯสูงถึง 70% ซ้ำยังเกินดุลการค้าสหรัฐฯในปี 67 สูงถึง 35,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ทรัมป์ ยกกระดานซึ่งแสดงให้เห็นบัญชีประเทศที่ถูกเขาเชือดด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าว่า สินค้าจากจีน จะถูกตั้งกำแพงภาษีสูงสุด โดยประกาศเพิ่มขึ้นอีก 34% จากเดิมที่ขึ้นไปก่อนหน้า 20% รวมเป็น 54%
เวียดนามโดนภาษีไป 46% กัมพูชา 49% ลาว 48% เมียนมา 44% สหภาพยุโรป โดน 20% ญี่ปุ่น 20% ส่วนไทยโดนไป 36% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 350,000 - 800,000 ล้านบาท มีผลทำให้ GDP ไทยอาจหายไปมากกว่า 1.9%
จากเดิมที่คิดกันว่าน่าจะโดนสหรัฐฯเล่นงานไปราว 7,000 - 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 270,000 ล้านบาท(34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) หรือ ขึ้นกำแพงภาษีกับไทยประมาณ 11% เท่านั้น
อัตราภาษีที่ว่านี้ ให้มีผลบังคับสำหรับรถยนต์ทันทีในวันที่ 31 มี.ค. ส่วนอัตราภาษีนำเข้าใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.นี้เป็นต้นไป
ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระบุว่า การกระทำของ ทรัมป์ เท่ากับฉีกกฏกติกาขององค์การการค้าโลก(WTO) และ การเจรจาทางการค้าทุกระบบบนโลกนี้ลงหมด ไม่ว่าจะเป็นพหุภาคี หรือ ทวิภาคี รวมทั้งระบบการค้าเสรีที่เคยทำกันระหว่างประเทศกับประเทศ เช่น FTA หรือ เขตการค้าเสรีระหว่างกัน
“ระบบการค้าเสรี Globalization และ Free Trade Market ของโลกใบนี้ได้ส้ินสุดลงอย่างส้ินเชิงแล้ว และจากนี้ไป ประเทศต่างๆ จะทำตามอำเภอใจ โดยไม่มีกฏกติกาใดๆ มาหยุดยั้งความไม่เป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อระบบการค้าโลกอย่างมาก”
เขายังเตือนพลเมืองสิงคโปร์ให้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ครั้งนี้ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนวุ่นวายโดยเฉพาะเมื่อการตั้งกำแพงภาษีนี้ จะทำให้ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจเล็กๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
วุฒิไกร ลีวีระพันธ์ุ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยก่อนหน้าว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมข้อเสนอไว้พร้อมแล้วสำหรับการเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ก็ได้พบกับหอการค้าสหรัฐฯ สภาธุรกิจสหรัฐฯ และภาคเอกชนสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันมาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถจะเจาะทะลุเข้าไปยังศูนย์กลางการตัดสินใจเรื่องนี้ได้
“เราเตรียมขอแลกเปลี่ยนการนำสินค้าเกษตรของสหรัฐฯหลายรายการ ตั้งแต่เนื้อวัว ไวน์ ข้าวโพด ฯลฯ แต่ท้ายสุดเราไม่มีโอกาสได้พบกับเขา เพราะเขาเลื่อนมาเรื่อย”
เรื่องสุดท้ายนี้ น่าจะสร้างภัยพิบัติให้กับประเทศไทยมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อขนาดเศรษฐกิจของไทยเราเล็กนิดเดียว และกำลังต้องสู้กับสินค้าต้นทุนต่ำจากโรงงานอุตสาหกรรมของโลกที่ล้วนมาจากประเทศจีน
ยามที่ภัยพิบัติมาเคาะประตูเรียกอยู่หน้าบ้านเช่นนี้ คนไทยควรสามัคคีกันดีกว่าจ้องจะแย่งอำนาจกันว่าไหม?!