“เท้ง ณัฐพงษ์” ยันไม่เสียของแน่นอน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ไม่ขอประเมินอายุรัฐบาล แต่ถ้า “แพทองธาร” อยู่ต่อ คนไทยจะอายุสั้นลง เผย หลังลงมติจบเดินขึ้นไปถามซ้ำ แต่ “อิ๊งค์” ปัดตอบ แค่ยิ้ม-ถ่ายรูป

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 มีนาคม 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะหัวหน้าผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่ต่อ ว่า ผลการลงมติที่ออกมาพรรคฝ่ายค้านถือว่าครบถ้วน ในส่วนของพรรคประชาชนมี 2 คน ที่ทราบสถานะคือ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ ที่มีการแอดมิตส่งเข้าโรงพยาบาล เมื่อวานนี้ (25 มีนาคม 2568) และนายสิริน สงวนสิน สส.กทม. มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เราเองก็ติดตามดูอยู่ด้วยความเป็นห่วง ส่วนที่เหลือก็ต้องติดตามกันดูในพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ผู้สื่อข่าวถามต่อ ภายหลังการลงมติเสร็จแล้วระหว่างถ่ายรูปได้คุยอะไรกับนายกรัฐมนตรี นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตอนที่ตนไปถ่ายรูปตั้งใจไปถามคำถามให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงในหลายๆ อย่าง จากที่เมื่อคืนยังไม่ได้ชี้แจง ตนตั้งใจจะไปถามนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบอะไร นายกรัฐมนตรีก็แค่ยิ้มและถ่ายรูป

...

ส่วนคำถามว่าตั้งใจจะไปถามเรื่องอะไรกับนายกรัฐมนตรี นายณัฐพงษ์ ตอบว่า เวลาสั้นๆ ที่เดินไปแสดงสปิริตเมื่อสักครู่นี้ คงไม่ใช่เรื่องที่ตนจะไปไล่ถามทุกคำถาม “ผมก็ถามสั้นๆ ประโยคสั้นๆ ว่า ท่านนายกฯ ครับ เมื่อวานที่ได้รอนายกฯ ชี้แจง ผมก็ย้ำนายกฯ หลายครั้ง เมื่อคืนให้ท่านชี้แจง ท่านก็กลับเงียบ และไม่ได้ชี้แจงใดๆ ได้แต่ยิ้มและหันหน้าขึ้นไปถ่ายรูป”

สำหรับประเด็นที่จะโรยเกลือต่อที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายณัฐพงษ์ ระบุว่า เรากำลังดูเรื่องข้อกฎหมาย มีหลายประเด็น ซึ่งยุทธการโรยเกลือยังมีช่องทางอีกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนในกรรมาธิการหรือไปยื่นตามที่ต่างๆ มีตามมาแน่นอนไม่ต้องห่วง และเรากำลังพูดคุยกันภายในพรรคว่าจะจัดการอย่างไรต่อ พร้อมย้ำว่าเริ่มทำงานตั้งแต่วันนี้ทันที ก่อนมาแถลงข่าวนี้ก็ประชุมกันในพรรค มีการพูดคุยกันหลายประเด็นแล้ว

ทางด้านกรณีที่พรรคประชาชนต่อต้านการที่นายกรัฐมนตรีถูกถอดถอนโดยศาลหรือองค์กรอิสระ แต่วันนี้จะทำเองนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนของเรามาโดยตลอดว่าเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนิติสงคราม รวมถึงกระบวนการที่สืบถอดมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการกลั่นแกล้งทางการเมือง ดังนั้น ที่ยังไม่ลงรายละเอียดมากเพราะเรากำลังดูช่องทางที่ถูกต้องตรงไปตรงมา ไม่ใช้กลไกที่เราไม่เห็นด้วย จึงต้องดูในรายละเอียดก่อน

“ผมเชื่อว่ามีหลายช่องทางที่เราสามารถดำเนินการทำได้ เช่น เรื่องภาษี ถึงแม้ไม่ต้องร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ แต่การทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยการนำข้อมูลมาเปิดเผยในสภาฯ ก็สามารถทำให้ครอบครัวของนายกฯ จ่ายภาษีได้ เราทุกคนก็ได้ประโยชน์ รวมถึงยังมีอีกหลายช่องทางมากมาย เป็นสิ่งที่พวกเราศึกษากันอยู่”

เมื่อถามต่อไปถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้พรรคประชาชนประกาศจุดยืนไปเลยว่าจะไม่จับมือกับพรรคไหนบ้างในการเลือกตั้งครั้งหน้า นายณัฐพงษ์ ตอบว่า จุดยืนของพรรคประชาชนชัดเจนมาโดยตลอด ในสภาฯ ชุดนี้จะไม่มีการไปร่วมรัฐบาลแน่นอน ตนคิดว่าการที่เรามีความชัดเจน เราก็พูดชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในมุมกลับกันตนต้องถามจุดยืนทางเมืองของนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกันว่าจุดยืนของท่านเป็นอย่างไร ดูย้อนแย้งหรือตรงข้ามกับสิ่งที่เคยเป็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดหรือไม่ ฉะนั้น ยังเร็วไปที่จะถามคำถามนี้ เราเห็นมาโดยตลอดแต่ละพรรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาฯ ชุดปัจจุบัน อาจจะมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป บางทีก็ย้ายไปฝั่งรัฐบาลบ้าง ฝั่งฝ่ายค้านบ้าง ฉะนั้นจุดยืนเราไม่เคยเปลี่ยน

ขณะที่คำถามว่าช่วงไหนถึงจะพอดีในการประกาศว่าจะร่วมกับพรรคไหน นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า รอมีกระแสใกล้ๆ ช่วงมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ช่วงนั้นอาจจะมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อถามอีกว่าหลังจากอภิปรายครั้งนี้จะต้องปกป้องคนในพรรคด้วยหรือไม่ เพราะออกมาแฉเรื่องไอโอ (IO) กองทัพ นายณัฐพงษ์ ระบุว่า สิ่งที่พวกเราไม่อยากเห็นคือการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือฟ้องปิดปาก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้คงไม่ได้ยับยั้งการทำหน้าที่ของพวกเรา ส่วนเรื่องปฏิบัติการไอโอ สิ่งที่น่าเสียดายคือไม่ได้อภิปรายจนจบ เพราะเราอยากสะท้อนให้ทุกคนเห็นว่าฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายเป็นเป้าโจมตีของกองทัพ

ในคำถามว่าพอใจภาพรวมการอภิปรายหรือไม่ เพราะฝั่งรัฐบาลก็ระบุว่าเหมือนเป็นการสรุปข่าวให้ฟัง ไม่มีข้อมูลใหม่ นายณัฐพงษ์ บอกว่า ตนต้องขอบคุณทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างพรรคพลังประชารัฐ หลายคนมีบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ก็ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ ซึ่งเรานำเสนอข้อมูลใหม่หลายด้าน ถ้ามองในกรอบรัฐบาลที่มองว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีข้อมูลอะไรมาก ตนอยากถามนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเช่นเดียวกันว่าหลายปัญหาของประเทศในขณะนี้ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตหลายปี ในเมื่อคุณเดินเข้าสู่อำนาจแล้วมีเจตจำนงหรือความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้กับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เกมของฝ่ายค้านจบแล้วในสภาฯ มีการเตรียมรับมือกับเกมของฝั่งรัฐบาลอย่างไรบ้าง นายณัฐพงษ์ เผยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็น สส. คือการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง ส่วนเกมการเมืองเช่นที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าการถ่ายภาพร่วมกันจะเป็นเกมที่ทำให้เราเสียภาพหรือไม่ ตนมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ สิ่งที่ประชาชนมองเห็นคือการทำหน้าที่ของเราอย่างคงเส้นคงวา พร้อมยืนยันว่าการอภิปรายครั้งนี้ไม่เสียของอย่างแน่นอน หลายอย่างที่เรานำเสนอ จะมีการดำเนินการต่อแน่นอน ขอให้รัฐบาลตั้งรับไว้ให้ดีข้อมูลที่เรามีบางอย่างนายกรัฐมนตรียังตอบไม่ได้

นายณัฐพงษ์ ยังได้ตอบคำถามเรื่องพรรคประชาชนจะถูกลอยโดดเดี่ยวอีกหรือไม่ เพราะมี สส.จากพรรคฝ่ายค้านไปโหวตเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อ ว่า เราไม่สามารถไปควบคุมเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ เราไม่ได้กลัวอะไร สิ่งที่เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้เราคืออำนาจสูงสุดของประเทศนี้เราเชื่อว่าเป็นของประชาชน ฉะนั้น เกมการเมืองในสภาฯ แต่ละพรรคจะว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องของพวกเขา

เมื่อถามว่ามีการประเมินอายุรัฐบาลชุดนี้ไว้อย่างไรบ้างนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เราประเมินแทนนายกรัฐมนตรีหรือพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ แต่สิ่งที่ตนพูดได้แทนประชาชนคือหาก น.ส.แพทองธาร ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ อายุของประชาชนคนไทยจะสั้นลงทุกวัน

ส่วนที่ช่วงเช้านายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะอยู่ครบวาระและนำพาประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิมนั้น นายณัฐพงษ์ มองว่า เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรียังตอบชี้แจงพวกเราไม่ได้ ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ยังไม่แก้ไข มัวแต่อ้างว่าฝ่ายค้านไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ การทำหน้าที่ปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ดีพอ ส่วนปัญหาในอนาคตก็ยังยืนยันว่าตราบใดที่ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ขาดคุณสมบัติที่ดีเพียงพอ ต้นทุนของประเทศที่เสียไปคงไม่มีอะไรมาแลกได้ ไม่อยากให้นายกรัฐมนตรีอยู่ครบวาระ

ในตอนท้ายเมื่อถามว่าเรื่องที่รัฐมนตรีชี้แจงประเด็นส่งชาวอุยกูร์ จะมีการรีแอ็กชั่นจากต่างประเทศหรือไม่นั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่สิ่งที่เราต้องยึดมั่นคือหลักการสากล เราไม่ควรดำเนินการนโยบายต่างประเทศไปเข้าข้างกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ประเด็นชาวอุยกูร์สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการที่จะทำอย่างไรไม่ให้ประเทศไทยเหมือนเข้ากระบวนการฟอกขาวของอีกประเทศหนึ่ง ต้องมีความอิสระของคณะทำงานที่ไปตรวจสอบ.

(ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี)