“วรภพ” อภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวหา “รัฐบาลแพทองธาร” ทุจริตเชิงนโยบายซื้อไฟแพง เอื้อกลุ่มทุนเอกชน โกงค่าไฟประชาชน 1 แสนล้าน “พีระพันธุ์” แจงโต้ ไม่เคยเอื้อประโยชน์นายทุน ย้ำ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ใช่นายกฯ ลงนาม
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 24 มีนาคม 2568 นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่าทุจริตเชิงนโยบายค่าไฟประชาชน สานต่อขบวนการค่าไฟฟ้าแพง ปล้นเงินประชาชนคนไทยทั้งประเทศแลกดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่สนิทสนมกับนายกฯ ตอนหนึ่งว่า เมื่อนายกฯ เดินหน้าสานต่อรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนระยะ 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ แม้โครงการนี้จะชะลอมา 3 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลตั้งใจโกงค่าไฟประชาชน 1 แสนล้านบาท แม้โครงการดังกล่าวนี้จะเริ่มโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อมีนาคม 2566 ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ช่วงเวลา 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง สส. ซึ่งรัฐบาลใหม่สานต่อเดินหน้าโครงการนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 โดยมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แม้รัฐบาลนี้จะมีมติให้ชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน แต่ผ่านมา 3 เดือนแล้วก็ยังไม่มีคำชี้แจงจากนายกฯ ว่าจะเอาอย่างไร หรือเป็นเทคนิคเพื่อรอให้ข่าวเงียบแล้วค่อยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนต่อได้
“การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ไม่มีการประมูลแข่งขันราคา เพราะมีการกำหนดราคารับซื้อไว้แล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีอนาคต คำนวณแล้วจะทำให้ค่าไฟของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท ยกตัวอย่างราคาไฟฟ้าแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ที่บิดาของนายกฯ เคยยืนยันเมื่อ 2 เดือนที่แล้วว่า ต้นทุนไฟฟ้าโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 1.8 บาทต่อหน่วย แต่นายกรัฐมนตรีคนลูกยินดีจะซื้อจากบริษัทเอกชนถึง 2.2 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟของประชาชนจะแพงขึ้นเกินจริง หากรัฐบาลเดินหน้ารับซื้อโดยไม่เปิดประมูล ทำให้กลุ่มทุนได้รับกำไร
...
นอกจากนี้ การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ ยังซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด 2,000 เมกะวัตต์ของรัฐบาลเอง ที่อนุมัติก่อนหน้าไปแล้วในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 แต่ในเดือนกรกฎาคม 2567 รัฐบาลแพทองธาร กลับเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็นอยู่แล้ว หากรัฐรับซื้อไฟฟ้าที่เอกชนผลิตเกินความต้องการจริง ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับก็จะมาหารใส่ในบิลค่าไฟของประชาชนทุกครัวเรือน”

นายวรภพ กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้มีการล็อกโควตาให้เฉพาะบริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าที่ยื่นโครงการในระยะแรก 2,100 เมกะวัตต์ ให้ได้รับสิทธิพิจารณาก่อนเจ้าอื่น ขณะที่เจ้าอื่นจะมีสิทธิเฉพาะ 5,200 เมกะวัตต์ที่เหลือในส่วนหลัง เหมือนกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ปลอบใจรายเก่า โดย กกพ. กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติ มีจำนวนมาก เอกชนที่ได้รับคะแนนเทคนิคสูงที่สุด จะได้รับคัดเลือกก่อน แต่ประเด็นที่เป็นข้อพิรุธว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบายคือการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน นอกจากจะไม่เปิดประมูลแล้ว ก็ไม่มีการประกาศว่า หลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิค คืออะไร พูดง่ายๆ คือ เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจแบบ จิ้มเลือกได้เลยว่า ต้องการให้บริษัทเอกชนรายใดได้รับคัดเลือกเพื่อได้กำไรดี จากการขายไฟฟ้าให้รัฐที่ไม่ต้องประมูลแข่งขันอะไรเลย แม้ไฟฟ้าที่ซื้อมาจะเกินกว่าความต้องการ
โดยรัฐบาลเร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มทุนพลังงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวนายกรัฐมนตรี มีภาพการออกงานที่สนิทสนมร่วมโต๊ะโซน VIP กันหลายงาน และเจ้าของกลุ่มทุนพลังงานนี้ ก็เป็นก๊วนกอล์ฟกับ นายทักษิณ ชินวัตร พ่อของนายกรัฐมนตรี เคยออกรอบกันหลายครั้งด้วย แม้การมีเพื่อนเป็นเจ้าสัว เป็นเพื่อนร่วมก๊วนกอล์ฟ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และรัฐบาลก็คงไม่ผิดอะไร ถ้ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีไม่ได้สานต่อ หรือเอื้อประโยชน์อะไร มันคงเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่
“ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยคัดค้านโครงการผลิตไฟฟ้านี้มาก่อน และศาลปกครองก็มีคำสั่งทุเลาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ แต่กลับไม่มีการชะลอโครงการ แม้คำสั่งศาลปกครองจะชี้ว่า กระบวนการคัดเลือกไม่โปร่งใส เพราะรัฐบาลเอื้อผลประโยชน์นายทุนพลังงาน จนทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มทุนผูกขาด และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแพทองธารยกเลิกโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟส 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ และเร่งรัดการเปิดเสรีพลังงานสะอาด (Direct PPA) พร้อมขอให้ยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ในส่วนที่ยังไม่ได้ลงนามด้วย”

ทางด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงเมื่อเวลา 17.28 น. โดยสรุปว่า กรณีค่าไฟแพง นายกรัฐมนตรีเคยเรียกตนไปถามว่าเรื่องนี้จะแก้อย่างไร ตนมองว่าต้องหยุด อย่าเพิ่งเซ็นสัญญา จึงทำหนังสือถึง กกพ. แต่ทาง กกพ. ทำหนังสือออกมาว่าตนไม่มีอำนาจ เพราะเรายังไม่รู้เรื่องราวว่ามันคืออะไร โดยตนรับว่าจะไปตรวจสอบ ปัญหาเหล่านี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้เพิกเฉย ส่วนเรื่อง ADDER หรือสัญญาชั่วนิรันดร์ ไม่ใช่เพิ่งเกิด เกิดตั้งแต่ปี 2550 ตนเห็นด้วยเรื่อง AP ค่าพร้อมจ่าย ปัญหาเรื่องพลังงานอยู่กับใครกันแน่ ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนกำหนด ตนหารือเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี จนมาถึง น.ส.แพทองธาร ตอนนี้กำลังวางรูปแบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
ส่วนเรื่องแผน PDP ที่ยังไม่จบเพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ยอม ตนไม่เห็นด้วยประเมินได้อย่างไรปี 2580 จะใช้ไฟ 100,000 กว่าเมกะวัตต์ แต่ทุกวันนี้ทำโดยไม่ใช่รัฐบาลทำ ต้องเข้าใจตรงนี้ว่าทำโดยฝ่ายประจำ แต่ในฐานะที่เราต้องรับผิดชอบ เราก็ต้องดูแล ที่ยังไม่จบเพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วยต่างหาก ไม่ใช่พยายามจะเปิดช่องให้นายทุน สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเป็นคนลงนาม และในรัฐบาลนี้ยังไม่มีการประมูลใดๆ

“ผมจะไม่บอกว่าท่านพูดจริง พูดไม่จริง เอาเป็นว่าข้อเท็จจริงมันไม่ใช่แบบนั้น ประการที่ 1 ท่านนายกฯ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องแบบที่ท่านว่า ประการที่ 2 ท่านนายกฯ ไม่ได้มีเถยจิตที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน ถ้าหากผลและรัฐบาลชุดนี้เอื้อประโยชน์นายทุน ผมไม่โดยสื่อมวลชนพยายามแซะผมอยู่ทุกวันนี้หรอก ก็เพราะผมอยู่ตรงนี้ไง ถ้าผมอยู่ตรงนี้แล้วได้ประโยชน์กันหมด มันจะเป็นแบบนี้ไหม เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็แล้วแต่ท่าน แต่ผมพูดความจริง สิ่งที่ท่านพูดทั้งหมด ท่านนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น และที่ท่านพาดพิงมาถึงผม ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น และตอนนี้กำลังหาทางแก้ปัญหามากกว่า ADDER อีก เรากำลังหาทางแก้ปัญหาเรื่องที่ท่านพูด เรื่อง AP และก็ EP ด้วย และตัวเลขต่างๆ เหล่านี้
ผมไม่ทราบท่านรู้หรือเปล่า ผมเห็นแล้วผมก็ตกใจ มันไม่ใช่แค่ 50,000 ล้านอย่างที่ท่านพูด ทั้งหมดล้านล้านครับ 25 ปีเนี่ย เห็นไหมว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องแก้ปัญหามันหนักแค่ไหน แล้วเซ็นสัญญากันหมด เราพยายามทำ ผมเองก็พยายามทำเต็มที่ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในความรับผิดชอบของผม ก็ต้องขอบคุณอีกครั้งครับ ที่ผมทำได้วันนี้เพราะการสนับสนุนของท่านนายกฯ ตั้งแต่ท่านเศรษฐา มาถึงท่านแพทองธาร ที่ท่านพาดพิงมาถึงผม มาถึงท่านนายกฯ ไม่เป็นความจริง”
