รองโฆษกรัฐบาล ขออย่าเชื่อโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนดีกว่าบุหรี่ทั่วไป ย้ำความจริงเพิ่มความเสี่ยงป่วย NCDs หนักกว่าถึง 2 เท่า ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง
วันที่ 22 มีนาคม 2568 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป มีความเข้าใจผิดต่อบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยมากกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ในความเป็นจริง บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดเต็มไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยหนึ่งในประเภทของบุหรี่ไฟฟ้าที่อันตรายมากคือ บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products: HTPs) ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ซิกาแรต เพราะไม่มีการเผาไหม้ แต่มีความเสี่ยงป่วย NCDs เพิ่มถึง 2 เท่า ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ การศึกษาของสถาบันชีวการแพทย์และการแพทย์ สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงถึง 2 เท่า ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง และเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคต ซึ่งผลงานวิจัยที่สำคัญสรุปได้ว่า สำหรับผู้สูบบุหรี่ HTPs ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ใด ๆ เลย จะเสี่ยงเกิดโรค NCDs เพิ่มขึ้น 68% และส่วนของกลุ่มผู้สูบบุหรี่ HTPs ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะเสี่ยงเกิดโรค NCDs เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 33% ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ HTPs ที่สูบมากกว่า 16 ครั้งต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs สูงกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา
...
สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเลวร้ายแล้ว ยังมีโทษตามกฎหมาย ทั้งผู้ค้า ผู้ครอบครอง และผู้สูบ