ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำไทยส่งกลับอุยกูร์คำนึงสิทธิมนุษยธรรม พ้อหลายประเทศตัดสินใจประณามไทยง่าย ๆ เพื่อหาแพะ ขณะที่หลายประเทศเผชิญปัญหาเนรเทศผู้อพยพกลับไม่มีใครประณาม

วันที่ 16 มีนาคม 2568 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “ทูตนอกแถว” ย้ำถึงการที่ไทยตัดสินใจส่งตัวชาวจีนอุยกูร์ 40 คนกลับจีนว่า เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของมนุษยธรรม และความถูกต้อง บนทางเลือกที่มีไม่มาก ไม่ว่าเลือกทางไหน ก็ต้องมีผลกระทบมหาศาลตามมา เป็นราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อสิ่งนั้น นอกจากเสียจากจะเลือกวิธีขังเขาต่อจนตายคาคุกไป อย่างที่หลายคนเลือก

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุด้วยว่า เป็นที่น่าเสียใจที่เพื่อนของเราบางประเทศ ไม่เข้าใจ และเลือกที่จะประณามไทยง่าย ๆ และเลือกการหาแพะมาสังเวยมโนธรรมของตัวเองแทน ซึ่งราคาของมนุษยธรรม ความถูกต้อง และการเป็นแพะสังเวยมโนธรรม (conscience scapegoat) และการชี้นิ้วประณามคนอื่นมันมักเป็นวิธีที่ง่ายกว่าเสมอ และบางทีก็ทำเพียงเพื่อได้แสดงว่า ฉันเป็นคนดีนะ แล้วไปหาคนอื่นมาเป็นแพะ เพื่อสังเวยกลบเกลื่อนต่อมมโนธรรมของตนเอง

ฟาดเนรเทศผู้อพยพ ไม่ถูกประณาม

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังเห็นว่า ทุกวันนี้ หลายประเทศที่เคยชูเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญปัญหาเรื่องผู้อพยพ หลายประเทศเริ่มเนรเทศคนเหล่านี้กลับไปยังประเทศต้นทาง ที่ยังมีการสู้รบและมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ประเทศเหล่านี้ทำได้ ไม่เป็นไร ไม่มีใครประณาม พร้อมยืนยันด้วยว่าการอพยพไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม ไม่ใช่เรื่องสวยงาม หรือง่ายดายขนาดนั้น เพราะต้องมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่แตกต่าง ต้องเผชิญกับการดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติ ฯลฯ

...

ถามนี่หรือ “มนุษยธรรม”

“มีประเทศหนึ่งบอกว่าขออย่าให้ไทยส่งตัวชาวจีนอุยกูร์กลับไปให้จีน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะรับคนเหล่านั้นไปอยู่ด้วย โดยเสนอว่า จะให้เอาไปอยู่ในประเทศหนึ่งในแอฟริกา (ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏ ประเทศที่ว่า ยังมีความขัดแย้ง การสู้รบและก่อการร้ายอยู่) ถามว่านี่คือมนุษยธรรมแค่ไหน? หรือเป็นเพียงแค่การเล่นเกมในความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) ของบางประเทศแค่นั้น” นายรัศม์ กล่าวและว่า

ยัน “อุยกูร์” สมัครใจกลับจีน

เกณฑ์สำคัญในการพิจารณาส่งชาวอุยกูร์ 40 คนกลับไปยังประเทศต้นทาง ไม่ได้มีการบีบบังคับให้กลับ เพราะจากข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคนเหล่านี้ระหว่างถูกคุมขัง มีการติดต่อกับญาติพี่น้อง และรับทราบถึงพัฒนาการความเจริญก้าวหน้ากินอยู่ดีของผู้คนในซินเจียงแผ่นดินเกิดของพวกเขา เมื่อทราบว่า ทางการจีนมีหนังสือรับรองสวัสดิภาพเป็นทางการ พวกเขาก็เลือกที่จะกลับไปอยู่กับสังคมญาติพี่น้อง ถิ่นฐานของตนเองที่พัฒนาแล้ว อาจดีกว่ารอในห้องขังต่อไปโดยไม่รู้จุดหมาย หรือต้องไปอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ยินดีต้อนรับจริง

ประการที่สอง เรื่องกลับจีนแล้วจะมีอันตรายหรือไม่ นายรัศม์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์โดยมีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไป แต่ไม่ใช่การคิดเอาเอง ตามความเชื่อหรือสมมุติฐานส่วนตน ซึ่งต้องมีการติดตามและตรวจสอบให้เป็นที่เชื่อถือได้ แต่อย่างน้อยที่สุดประเทศต้นทางได้ให้คำรับรองเป็นทางการที่ย่อมมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม

ตอกพูดอย่าง ทำอย่าง

“การชี้นิ้วประณามไทยมันย่อมง่ายกว่า และอาจทำให้เขาไม่ต้องรู้สึกผิดกับมโนธรรมตนเองมากนัก ในขณะที่หลายประเทศบอกไม่เชื่อในคำมั่นของจีน แต่ก็ยังคงมีปฏิสัมพันธ์ คบค้า ทำธุรกิจกับเขาสิ่งนี้บอกถึงอะไร?” นายรัศม์ กล่าวและว่า

แต่ก็น่าแปลกใจที่คนไม่น้อย รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชนบางคน กลับเห็นด้วยว่าควรกักขังเขาต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ไม่สามารถมีทางออกที่ดีกว่าและเป็นไปได้จริงมาเสนอ ซึ่งผลที่จะตามมาคือพวกเขาจะต้องตายคาคุก ซึ่งพวกเขาได้เสียชีวิตระหว่างถูกกักขังไปแล้วสองคน