ผลสำรวจนิด้าโพล ส่วนใหญ่มองอภิปรายไม่ไว้วางใจวุ่นวาย แต่ประธานสภาฯ คุมได้ มองฝ่ายค้านมีข้อมูลสำคัญ แต่ยังล้มรัฐบาลไม่ได้ รอฟัง “อิ๊งค์” ในเวทีซักฟอกมากที่สุด รองลงมา “เท้ง-บิ๊กป้อม”


วันที่ 16 มีนาคม 2568 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “จะได้อภิปรายแค่ไหน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสภา จากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร

ในคำถามความคิดเห็นของประชาชนต่อความวุ่นวาย หากมีการประท้วงในสภาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า

ร้อยละ 49.08 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายบ้าง
ร้อยละ 26.26 ระบุว่า จะไม่มีความวุ่นวายเลย
ร้อยละ 24.66 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายมาก

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่าจะมีความวุ่นวายมาก และจะมีความวุ่นวายบ้าง (จำนวน 966 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความวุ่นวายในระหว่างการอภิปราย พบว่า

ร้อยละ 55.38 ระบุว่า จะมีความวุ่นวาย แต่ประธานในที่ประชุมจะควบคุมสถานการณ์ได้
ร้อยละ 24.53 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายมาก จนกระทั่งต้องมีการพักการประชุมบ่อยครั้ง
ร้อยละ 23.29 ระบุว่า จะมีการประท้วงกันจนการอภิปรายไปต่อไม่ได้
ร้อยละ 21.74 ระบุว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ และประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม (Walk Out)
ร้อยละ 20.50 ระบุว่าจะมีความวุ่นวาย จนกระทั่งประธานไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ร้อยละ 20.39 ระบุว่า จะมีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่เหมาะสมในสภา
ร้อยละ 13.25 ระบุว่า จะมีความวุ่นวายมาก จนกระทั่งมีการรวบรัดขอปิดการอภิปรายและลงมติเลย
ร้อยละ 4.45 ระบุว่า จะมีการต่อยตีกันเหมือนการประชุมสภาในต่างประเทศ
ร้อยละ 3.00 ระบุว่า จะมีการปลุกม็อบนอกสภา

...

ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลของฝ่ายค้านในการอภิปรายที่อาจนำไปสู่การล้มรัฐบาลได้ พบว่า

ร้อยละ 66.79 ระบุว่า จะมีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย แต่ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้
ร้อยละ 19.31 ระบุว่า จะไม่มีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย และไม่สามารถล้มรัฐบาลได้
ร้อยละ 11.30 ระบุว่า จะมีข้อมูลสำคัญในการอภิปราย จนถึงขั้นล้มรัฐบาลได้
ร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจของฝ่ายค้านตามข้อเสนอของประธานสภาฯ ให้ถอนชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า

ร้อยละ 37.48 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรยืนยันตามญัตติเดิม และรอจนกว่าประธานสภาฯ ยอมบรรจุในวาระการประชุม
ร้อยละ 32.44 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรทำตามข้อเสนอเพื่อจะได้เปิดอภิปรายได้
ร้อยละ 10.08 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ร้อยละ 9.16 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรขอถอนญัตติ และเลิกล้มที่จะอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกสภาฯ
ร้อยละ 6.57 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรยืนยันตามญัตติเดิม และออกไปอภิปรายนอกสภาฯ แทน
ร้อยละ 4.27 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรขอถอนญัตติ และออกไปอภิปรายนอกสภาฯ แทน

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปตามกำหนดการเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลง พบว่า

ร้อยละ 54.73 ระบุว่า จะเป็นไปตามกำหนดเดิม
ร้อยละ 38.32 ระบุว่า จะมีการเลื่อนออกไประยะหนึ่ง
ร้อยละ 4.43 ระบุว่า จะไม่มีการอภิปรายเกิดขึ้น
ร้อยละ 2.52 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงนักการเมืองที่ประชาชนสนใจจะฟังในการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พบว่า

ร้อยละ 41.99 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ร้อยละ 34.35 ระบุว่าเป็น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน
ร้อยละ 11.83 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน