“สุชัชวีร์” คับแค้นใจ เหตุสลดถนนพระราม 2 สะพานถล่ม เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก เจ็บ-ตายไร้คนรับผิดชอบ แถมไม่ถอดบทเรียน ป้องกันสูญเสียกันเสียที “สามารถ” เย้ย รมว.คมนาคม ฉีกสมุดพกผู้รับเหมาทิ้งเถอะ

วันที่ 15 มีนาคม 2568 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ถล่มของโครงสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีใจความว่า หลังได้ข่าวสะพานถล่มแถวพระราม 2 รู้สึกเสียใจจนถึงระดับคับแค้นใจเพราะในฐานะวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ที่เห็นความวิบัติมานับครั้งไม่ถ้วน และเห็นคนเจ็บ คนตายมานับไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เหตุสลดก็ยังเกิดขึ้น ซ้ำซาก ในสังคมไทย

นายสุชัชวีร์ ระบุต่อไปว่า เตือนแล้วและแนะนำไปนับครั้งไม่ถ้วนแล้วเช่นกัน ทุกอย่างยังคงแย่เหมือนเดิม เพราะเราลืมง่าย ทั้งผู้รับผิดชอบหรือเจ้าของโครงการ ไม่จริงใจ ไม่ถอดบทเรียนเพื่อหาสาเหตุนำไปสู่การเอาผิดกับผู้กระทำผิด รอเรื่องเงียบแล้วก็ปล่อยผ่าน คนทำผิดเขาก็รู้แกว ไม่ต้องใส่ใจ ไม่สนใจจริงไหม ขอเรียนว่าสาเหตุการถล่มของการก่อสร้างมีไม่กี่เรื่อง วิศวกรโยธาเรียนกันมาทุกคน เพียงต้องถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อหาสาเหตุ ดังนี้

1. ปัญหาการออกแบบไม่ได้มาตรฐาน คือ วิศวกรหรือผู้ออกแบบคำนวณผิด ทำให้การออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทำก่อสร้างหรือเมื่อใช้งานจึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โครงสร้างจึงถล่ม กรณีนี้ตรวจสอบได้จากรายการคำนวณก็บอกได้ว่าผู้ออกแบบออกแบบผิดมาตรฐานต้องรับผิดชอบ

...

2. ปัญหาการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน คือ ผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือไม่ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง กรณีตรวจสอบโดยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องก็รู้ทันทีว่าทำผิด ผู้รับเหมาและผู้คุมงานต้องรับผิดชอบ

3. ปัญหาการใช้งานไม่ได้มาตรฐาน เมื่อออกแบบและก่อสร้างถูกต้องตามมาตรฐาน แต่เจ้าของหรือผู้ใช้งานใช้งานผิดประเภท เช่น ออกแบบมาเป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับใช้เป็นโกดังเก็บของ น้ำหนักบรรทุกเกินก็พัง กรณีนี้เจ้าของหรือผู้ใช้งานก็ต้องรับผิดชอบ

4. ปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ หากออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งานถูกต้อง แต่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวหรือพายุรุนแรงเกินที่ถูกกำหนดในมาตรฐาน กรณีนี้คงถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ย้ำว่าต้องเกินกว่าที่ระบุไว้เท่านั้นถึงจะอ้างข้อนี้ได้ เพราะมีหลายกรณีที่จะเบี่ยงเบนประเด็นมาเข้าข้อนี้ ทั้งๆ ที่ทำผิดข้อ 1-3 เรามักเห็นๆ กันอยู่จริงไหม

นายสุชัชวีร์ ระบุทิ้งท้ายว่า “ผมและแนวร่วมภาควิชาการและภาคประชาชนจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการเสนอกฎหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะฉบับประชาชน รอพี่น้องประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 ชื่อ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการมีเจ้าภาพในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามการแก้ปัญหา ถอดบทเรียน นำไปสู่การหาผู้รับผิดชอบและเยียวยาผู้ประสบภัยสาธารณะ ให้ได้รับความเป็นธรรม และยังจะทำหน้าที่ตรวจสอบสาเหตุอุบัติภัยแทนหน่วยงานที่เกิดเหตุ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่พอเรื่องสะพานถล่ม คนตาย เงียบ ก็ไม่มีใครมาลงชื่อ ความตั้งใจดีๆ นี้จึงไม่ไปถึงไหนสักที ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลงชื่อเสนอ พ.ร.บ.ความปลอดภัยสาธารณะ ที่ thaipublicsafety.org ไม่งั้นจะเจ็บตายอีกเท่าไหร่ด้วยความห่วงใย”

“สามารถ” เย้ย ฉีกสมุดพกผู้รับเหมาทิ้ง ให้ประชาชนหาทางป้องกันเอาเอง

ทางด้าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กในนี้เช่นกัน ว่า หลังจากเกิดอุบัติเหตุการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย ไม่คาดคิดว่าจะมีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เกิดขึ้นอีก เพราะผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายมีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว ที่สำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศก้องมาทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุว่าจะใช้ “มาตรการสมุดพกผู้รับเหมา” โดยจะตัดคะแนนผู้รับเหมาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง พิจารณาลดชั้นผู้รับเหมา รวมถึงการถอดรายชื่อออกจากทะเบียนผู้รับเหมาที่มีสิทธิ์เข้าประมูลโครงการของภาครัฐทันที

แต่เช้ามืดวันนี้ (15 มีนาคม 2568) กลับมีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก โดยจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ที่กำลังก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เกิดขึ้นอีก มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย อุบัติเหตุครั้งนี้จะเกิดจากการออกแบบ การก่อสร้าง หรือการควบคุมงาน เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งสอบสวนหาสาเหตุให้ได้ เพื่อจะได้ใช้เป็นบทเรียนในการพัฒนาโครงการต่อไป และจะต้องชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สัญจรที่ต้องผ่านถนนพระราม 2 เพื่อจะได้หาทางป้องกันตัว

“เชื่อมั้ยครับว่าการสอบสวนหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ผ่านมาแล้วเกือบ 4 เดือน ยังไม่แล้วเสร็จ แล้วเราจะมีอะไรมาถอดบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก การป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะใช้มาตรการใดก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือหากผู้รับผิดชอบไม่เข้มงวดกวดขัน ไม่เอาจริงเอาจัง อย่าหวังเลยว่าจะได้ผล ถึงเวลานี้ รมว.คมนาคม ควรพิจารณาหาข้อบกพร่องในการใช้มาตรการสมุดพกผู้รับเหมา แล้วเร่งแก้ไข แต่หากเห็นว่าใช้มาตรการนี้ไม่ได้ผล ก็ฉีกสมุดพกผู้รับเหมาทิ้งเถอะ ให้พี่น้องประชาชนหาทางป้องกันเอาเอง ซึ่งทางที่ดีที่สุดก็คือถ้าไม่จำเป็น ก็อย่าผ่านถนนพระราม 2 อีกเลย”