“อนุทิน” สั่งการถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด พร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน 2568 ช่วยเหลือดูแลประชาชนประสบภัยทุกพื้นที่
วันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูร้อนที่ในช่วงต้นฤดูมักเกิดพายุฤดูร้อนที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรของประชาชน เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ออกข้อสั่งการถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนในปี 2568
“ข้อมูลของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ชี้ว่าในเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี จะมีพื้นที่ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน ซึ่งเมื่อรวมแล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปี 65-67 ได้มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 44 คน บ้านเรือนเสียหายถึง 217,639 หลัง และประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 210,186 ครัวเรือน ท่านอนุทิน จึงให้ทุกจังหวัดเตรียมการให้พร้อม เพราะแม้ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่การเตรียมการป้องกันจะสามารถบรรเทาความเสียหาย ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนได้”
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า ตามข้อสั่งการของนายอนุทิน ให้ทุกจังหวัดดำเนินการใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเตรียมความพร้อม โดยให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ตรวจสอบอาคาร สิ่งก่อสร้าง ป้ายโฆษณา และไม้ยืนต้นที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการพังทลาย เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชนทันที รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบแนวทางปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย เช่น การป้องกันฟ้าผ่าและการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่วนด้านการเผชิญเหตุ หากเกิดสถานการณ์วาตภัยจากพายุฤดูร้อนที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินในพื้นที่ใด ให้เร่งสำรวจความเสียหายและดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
...
กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้แบ่งภารกิจ พื้นที่ รับผิดชอบและบูรณาการหน่วยงาน เพื่อจัดทีมปฏิบัติการเร่งเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน กรณีป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น หรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเข้าดำเนินการแก้ไขไม่ให้กีดขวางพื้นที่สาธารณะ และซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ หากพื้นที่ใดเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอำเภอ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป.

