เครือข่ายประชาชนรับผลกระทบปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด นัด 18 มีนาคมนี้บุกทำเนียบฯ ถามความคืบหน้าดำเนินคดีผู้ก่อความเสียหาย ฟาดกลับ “นายกฯ อิ๊งค์” นี่หรือวาระแห่งชาติ
วันที่ 13 มีนาคม 2568 ที่รัฐสภา นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาด โดยตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า ขอสื่อสารถึงปัญหาและความเดือดร้อนที่พวกตนรับผลกระทบเพื่อต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำทั้ง 19 จังหวัด นัดมีการจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 18 มีนาคมนี้เพื่อทวงคำตอบ 4 ข้อจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและขอพบผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่มีทางออกอื่น นอกจากต้องการให้บริษัทเอกชนที่เป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำและรัฐบาลในฐานะผู้อนุญาตให้นำเข้าสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์กินไม่เลือกนี้ ต้องรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปล่อยปละละเลยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีเหตุผล 4 ข้อคือ
1. ปัญหาการแพร่ระบาดได้ลุกลามขยายตัวจนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะแก้ไขปัญหาได้เอง รวมทั้งส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในวงกว้าง
2. การดำเนินงานของรัฐบาลที่เคยประกาศว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้งบประมาณเพียง 12 ล้านบาทเพื่อจับปลาหมอคางดำอีกรอบหนึ่ง แต่ยังคงเหลือปลาหมอคางดำอีกหลายสิบล้านตันที่ไม่ถูกกำจัด ทำแค่ในลักษณะไฟไหม้ฟาง
3. ประชาชนพยายามพึ่งพาตนเองโดยได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง แต่เป็นเพียงชั้นรับฟ้องคดีแบบกลุ่ม หากสิ้นสุดกระบวนการ ก็คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 - 4 ปี และเป็นการฟ้องเฉพาะประชาชนจังหวัดสมุทรสงคราม แต่มีประชาชนอีก 18-19 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบและยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งไม่ว่าศาลจะตัดสินให้บริษัทเอกชนต้องจ่ายสินไหมทดแทนหรือไม่ ก็ยังไม่รวมผลกระทบต่อระบบนิเวศและอื่นๆ ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตการฟ้องร้อง
...
4. ตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก 19 จังหวัดได้เดินทางมาชุมนุมและยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา
ถามนี่หรือ“วาระแห่งชาติ”
“พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐเร่งทำใน 4 ข้อ คือ 1. ให้ตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้กระทำผิด 2. กำจัดปลาหมอคางดำภายใน 1 ปี 3. ประกาศเขตภัยพิบัติ 4. ดำเนินคดีต่อผู้ก่อหายนะต่อระบบนิเวศแต่ก็ปราศจากคำตอบใด ๆ จากผู้นำรัฐบาล พวกตนจึงต้องมาทวงคำตอบทั้งนี้ การชุมนุมใหญ่ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคมนี้ เพื่อให้ตรงกับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นการเอื้ออำนวยให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบความเดือดร้อนจากปากของประชาชนโดยตรง และตอบคำถามว่ารัฐบาลจะรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ โดยจะประสานส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งส่งจดหมายเชิญผู้นำฝ่ายค้านฯ มาพบกับตัวแทนประชาชนเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน” ตัวแทนกลุ่มประชาชนที่รับผลกระทบ กล่าว
ฝ่ายค้านหนุนจี้ นายกฯ เร่งแก้ไข
ด้านนายศักดินัย นุ่มหนู กล่าวว่า เมื่อพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำทั้งในธรรมชาติและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งที่ได้สะท้อนปัญหาเหล่านี้เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ยังไม่มีการดำเนินการที่ต่อเนื่องและชัดเจนเพียงพอ จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาดูปัญหานี้อย่างจริงจัง และในวันนี้พี่น้องประชาชนได้ออกมาแสดงตัวว่า เขาต่างไม่พอใจต่อการแก้ปัญหานี้ของรัฐบาล