“เท้ง ณัฐพงษ์” นำทีม สส.พรรคประชาชน ดูภาพรวมระบบยุติธรรมเรือนจำ พร้อมฟังเสียงสะท้อนจากผู้ต้องขัง ปัดมาหาข้อมูลชั้น 14 รพ.ตำรวจ ส่วนปม “ผู้กำกับโจ้” ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง
วันที่ 11 มีนาคม 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเยี่ยมชมเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ว่า การมาในครั้งนี้เป็นหมายกำหนดการที่เราวางไว้ก่อนแล้ว มาดูในเรื่องของระบบยุติธรรม สวัสดิภาพ และสวัสดิการต่างๆ ของผู้ต้องขังในเรือนจำ พร้อมทั้งดูภาพรวมของระบบยุติธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ
ทั้งนี้ เป็นการหารือในภาพรวม เช่น เรื่องการติดต่อกับโลกภายนอก การรับส่งจดหมาย และระบบ Domimail ที่มีมาตรฐานไม่ตรงกัน ซึ่งเรือนจำบางแห่งใช้ได้ แต่บางแห่งไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงการส่งหนังสือ การสั่งอาหารเข้ามาภายในเรือนจำ และการพบญาติซึ่งมีการกำหนด 10 รายชื่อ ที่มีการกำหนดไม่ตรงกัน เช่น บางแห่งกำหนดว่าเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด บางเรือนจำบอกเป็นเฉพาะญาติ หรือบางเรือนจำกลับบอกเป็นบุคคลใดก็ได้ ถือว่ายังเป็นมาตรฐานที่ไม่ตรงกัน จึงเป็นเหตุให้ตนและ สส.พรรคประชาชน มาร่วมหารือในเรื่องดังกล่าวนี้ นอกจากนี้ ยังมีการพบปะพูดคุยกับผู้ต้องขังโดยตรงเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนภายในเรือนจำ

...
ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่าพรรคฝ่ายค้านเดินทางมาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จากกำหนดการไม่ได้มีประเด็นในส่วนนั้น และที่มีการหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คือการรับฟังข้อคิดเห็นหลายๆ อย่างเพื่อนำไปปรับปรุงให้สวัสดิการของผู้ต้องขังดีขึ้นได้ พร้อมกล่าวว่าไม่ได้มีการพูดคุยกันในกรณีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผู้กำกับโจ้ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ยอมรับว่าก่อนมามีการพูดคุยบ้างเล็กน้อย ซึ่งในส่วนของเนื้อหาต่างๆ เข้าใจว่าทางหน่วยงานมีการดำเนินการตรวจสอบภายในอยู่ ตนมองว่าเวทีที่เรามาวันนี้คือการดูในภาพรวมของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ส่วนในเรื่องของอดีตผู้กำกับโจ้ ให้ทางหน่วยงานได้มีการชี้แจงน่าจะดีกว่า
สำหรับการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม เรามี สส.หลายคน ที่มีการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่กำลังมีการยกร่างแก้ไขกฎหมาย รวมถึงผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง ซึ่งยังมีอีกหลายช่องทางที่เราจะสามารถทำให้ระบบยุติธรรมดีขึ้น เช่น การใช้หลักการคุมขังนอกเรือนจำ โดยวันนี้มีการหารือภายในร่วมกัน ซึ่งทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์มีการพูดถึงข้อติดขัด อาทิ รายละเอียดค่าใช้จ่าย.

