สร้างกำแพงกั้นชายแดน 2 ประเทศ “มาริษ” แจง ยังไม่คุยกัมพูชา ปัดเป็นคำสั่งนายกฯ เผย เห็นตรงกันกรณี “ปราสาทตาเมือนธม” เชื่อคุยกันจบในระดับพื้นที่ แย้มคุย รมต. เฝ้าระวังสแกมเมอร์ย้ายฐาน
วันที่ 9 มีนาคม 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา โดยระบุว่า เป็นความคิดของหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ได้เป็นคำสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งยังไม่เห็นว่ามีความสำคัญถึงขั้นต้องยกขึ้นพูดคุยกันในระดับประเทศ แต่ต้องปรึกษาหารือกันเรื่องของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และงบประมาณที่ใช้มีความคุ้มค่าหรือไม่ และยืนยันว่าทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ ปัจจุบันเป็นเพียงการรับฟังแนวคิดของหน่วยงานในพื้นที่และประชาชน เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเขา โดยต้องปล่อยให้คนในพื้นที่ไปคิดกันว่าทางออกแบบใดที่เหมาะสม แล้วค่อยนำมาพูดคุยกันอีกที
ขณะเดียวกัน นายมาริษ ยังให้สัมภาษณ์ในประเด็นพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ว่า ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันในทุกระดับ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมที่ประเทศเวียดนามได้พูดคุยกับ นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา เห็นตรงกันว่าควรพูดคุยกันในระดับพื้นที่ รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศไม่อยากเห็นการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยในระดับประเทศ และเท่าที่ทราบก็ไม่เห็นว่าจะมีความขัดแย้งมากมายที่จะยกขึ้นมาถึงระดับที่รัฐบาลต้องพูดคุยกัน
...
“สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมร่วมกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การพูดคุยกันในระดับประชาชนและท้องที่จึงดีที่สุด”

นายมาริษ มองว่า ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน มีความหลากหลายของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้น ซึ่งนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกระดับของความสัมพันธ์ต้องทำไปด้วยกัน และมีทิศทางเดียวกัน ส่วนกรณีหากมีปัญหาเกิดขึ้น จะพยายามควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ภายในพื้นที่ เพราะมีกลไกในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะระดับปฏิบัติการในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องการยกขึ้นมาในระดับประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นายมาริษ ระบุอีกว่า การกระทบกระทั่งกันเพียงเล็กน้อย ควรอาศัยกลไกที่มี อาทิ ความร่วมมือตามแนวชายแดน ความร่วมมือทางการทหาร ซึ่งบางเรื่องไม่จำเป็นต้องยกขึ้นมาและทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต จนกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “แม้จะเป็นเพื่อนกันก็มีการกระทบกระทั่งกันได้ แต่ทั้งหมดก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดจากัน จากความร่วมมือที่เรามีระหว่างกัน”
นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีการแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์สามารถพูดคุยกันได้ หลายครั้งที่มีการยกหูโทรหากัน แต่ความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และทำให้การกระทบกระทั่งกันเพียงเล็กน้อยอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

สำหรับการเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา ครบรอบ 75 ปี ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2568 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า มีการจัดการแข่งขันกีฬาโดยดึงคนรุ่นใหม่ของทั้ง 2 ประเทศมาร่วมกิจกรรมกันประสบความสำเร็จ ทำให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นทุกระดับ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนด้วยกัน อีกทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของไทย-กัมพูชาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ส่งผลต่อการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำโขง เช่น การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควัน ฝุ่น PM 2.5 และการปราบปรามกลุ่มสแกมเมอร์ ซึ่งภาครัฐนำโดยนายกรัฐมนตรีไทย และ สมเด็จฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผู้นำของ 2 ประเทศมีการพูดคุยกันตลอดเวลา
ทางด้านการแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชา นายมาริษ เผยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้พูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายกลุ่มที่ถูกปราบปรามจากเมียนมาย้ายมาในกัมพูชา ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ตอนนี้ทางการไทยให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ได้เป็นเพียงความร่วมมือระหว่างไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังมีกลุ่มที่มีอิทธิพลมาจากประเทศอื่นด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องการจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
“เมื่อไหร่ก็ตามมีสัญญาณที่ชัดเจน เราก็มีความร่วมมือที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ได้พูดคุยกันไว้แล้วว่าจะทำอะไร หากมีความพยายามจะย้ายฐานการทำผิดกฎหมายไปประเทศอื่น”