“ประเสริฐ” เผย ตัดไฟ-อินเทอร์เน็ตแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ผล ค่าความเสียหายลดลง เหลือไม่ถึง 50 ล้าน/วัน เตรียมเพิ่มจุดสัญญาณหลังฝั่งไทยได้รับผลกระทบ ยันไม่ถึงเพื่อนบ้าน คาด พ.ร.ก.ไซเบอร์ ประกาศใช้ใน มี.ค.
วันที่ 4 มีนาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้าการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 มีออกหมายจับไปกว่า 100 คน และมีการตรวจสอบสัญญาณ เสา สาย การใช้ซิม ทุกสัปดาห์ในวันจันทร์ เท่าที่รับรายงานเป็นไปด้วยดี มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง และยังไม่พบเหตุผิดปกติ
เมื่อถามถึงปัญหาหลังตัดสัญญาณ ทำให้คนในประเทศส่วนหนึ่งไม่สามารถใช้สัญญาณได้ นายประเสริฐ กล่าวว่า มีบ้าง ซึ่งวันที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ ได้สั่งการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีวิธีขยายสัญญาณในฝั่งไทยในจุดที่สัญญาณอ่อน มีการพูดคุยกันว่าอาจจะเพิ่มสัญญาณในบางจุด เพิ่มเฉพาะในฝั่งไทย
ส่วนคำถามว่าหากมีการเพิ่มจุดสัญญาณ จะมีสัญญาณไปถึงประเทศเพื่อนบ้านจนเขาสามารถกลับไปใช้งานได้หรือไม่ นายประเสริฐ ตอบว่า ไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีตัววัดสัญญาณอยู่แล้ว และที่ผ่านมาภาคเอกชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เจ้าของสายสัญญาณก็มายืนยันด้วยดี ส่วนใครที่ไม่มายืนยันก็ดำเนินการตัดสัญญาณ
ขณะที่ภายหลังการตัดสัญญาณหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มีการดำเนินการเต็ม 100% แล้วหรือไม่ นายประเสริฐ ระบุว่า เราตัดสัญญาณเฉพาะคนที่ไม่มายืนยันประมาณ 10 ราย ส่วนคนที่มายืนยันก็สามารถใช้บริการได้ แต่ถ้าพบว่าสายที่ใช้งานได้ แต่ถูกลากไปในตึกหรืออาคารที่สงสัยว่าอาจใช้ในกลุ่มมิจฉาชีพ หรือใช้ประกอบการทำความผิด เราก็จะดำเนินการ มีการตรวจสอบสายที่ลากข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน หากผู้ประกอบการปฏิเสธว่าไม่ใช่เจ้าของก็จะมีการตัดตามขั้นตอน
...
ทางด้านคำถาม หลังจากตัดสัญญาณแล้วปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลงหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า จากการตรวจสอบกับตำรวจพบว่าปัญหาลดลง 20% สถิติการใช้ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสถิติของคดีก็ลดลง ในส่วนของศูนย์ AOC ปัจจุบันมีการร้องเรียนประมาณ 3,000 สายต่อวัน โดยหลังเปิดศูนย์ประมาณ 1 ปี ตัวเลขลง 40% หลังใช้มาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายลดลง 20% ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะลดลงทั้งความเสียหาย เงินลดลง ก่อนหน้านี้ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท แต่หลังเปิดศูนย์ตัวเลขลดลงเหลือ 60-70 ล้านบาท และหลังมีมาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อวัน โดยส่วนใหญ่มาจากการหลอกให้ลงทุนเงินดิจิทัล ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก แต่ค่าเสียหายน้อย และลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือซื้อของไม่ตรงปก
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความคืบหน้าการบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม โดยภายในเดือนนี้ตนจะเรียกสถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจให้บริการการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ และแพลตฟอร์ม เข้ามาพูดคุยทีละกลุ่มถึงความเข้าใจความรับผิดชอบในค่าความเสียหายว่าหมายถึงอะไร เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ก่อนประกาศใช้กฎหมาย โดยคาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนมีนาคม.