กรรมการปลอดภัยทางถนน จ่อเรียกถกประเด็นรถทัวร์บึงกาฬพลิกคว่ำที่ปราจีนบุรี “นิกร” ชี้ รถโดยสารหมวด 30 อันตราย ชงเพิ่มวงเงินประกันภัยเยียวยาเหยื่อ มอง 500,000 บาท น้อยไป
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของรัฐสภา และประธานคณะอนุกรรมการ ด้านประสานงานบริหารจัดการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ แถลงแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์รถบัสศึกษาดูงานของเทศบาลบึงกาฬ พลิกคว่ำบนถนนสาย 304 บริเวณเขาศาลปู่โทน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ว่า คณะกรรมการให้ความสำคัญกับกรณีนี้ เพราะเป็นการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารไม่ประจำทางหมวด 30 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน คือกรณีไฟไหม้รถบัสนักเรียนจาก จ.อุทัยธานี ที่ถนนวิภาวดีรังสิต เราได้มีการศึกษากรณีนี้และเสนอแนวทางเชิงนโยบายไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย
สำหรับเหตุการณ์นี้ คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะ ซึ่งมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นประธาน จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุว่าเกิดจากตัวผู้ขับขี่ สภาพรถ หรือเส้นทางคมนาคมที่ไม่ปลอดภัย ก่อนเสนอข้อสรุปต่อคณะกรรมการชุดใหญ่
“จากประสบการณ์ด้านคมนาคมของผมที่มีมากกว่า 20 ปี มองว่ารถโดยสารหมวด 30 มีความปลอดภัยต่ำมาก เพราะไม่ใช่รถที่วิ่งประจำทาง ทำให้การตรวจสอบด้านความปลอดภัยเป็นไปได้ยาก รวมถึงการควบคุมความเร็วของรถกลุ่มนี้ติดตามได้ยากกว่า นอกจากนี้ ในช่วงหลังพบอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถบัสโดยสารสองชั้นและรถตู้โดยสารหมวด 30 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การขับขี่ความเร็วและการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างเช่น ในถนนสาย 304 เป็นเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยในปี 2567 ที่จากการตรวจสอบเบื้องต้นเกิดอุบัติเหตุใหญ่ เกือบ 10 เคส และยังมีถนนเสี่ยงอีกหลายเส้นทาง แต่ปัจจุบันมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ยังอยู่ในระดับขอความร่วมมือเท่านั้น ไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยทางถนนต้องใช้เวลาในการปรับปรุง แต่การเยียวยาผู้ประสบเหตุไม่สามารถรอได้”
...
นายนิกร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับ นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ที่กำลังพิจารณาถึงแนวทางการเพิ่มวงเงินประกันภัยให้เหมาะสมแก่เหตุ เพราะปัจจุบันวงเงินประกันภัยอยู่ที่ 10 ล้านบาท โดยแบ่งเยียวยาผู้เสียชีวิตเพียง 500,000 บาท ที่ตนมองว่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เช่น กรณีนี้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 18 คน และยังมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หากคำนวณเงินเยียวยาต่อรายจะไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการขยายวงเงินประกันภัยให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความระมัดระวังจากผู้ประกอบการ และช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้อย่างเหมาะสม