“นายกฯ อิ๊งค์” ลั่น ตอนนี้คือเวลาของไทย สร้างอิทธิพลใหม่ระดับโลก ตั้งเป้าผลักดัน Soft Power เปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ดึงดูดลงทุน สร้างงาน ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดงานเสวนา Global Soft Power Talks: The New Rules of Soft Power โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมรับฟัง ณ สตูดิโอ 4 อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศการกระจายเสียงวิทยุและการให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติได้มากล่าวปิดงานเสวนา Global Soft Power Talk วันนี้ ซึ่งเป็นเวทีที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของไทยในการสร้างอิทธิพลใหม่ระดับโลก ผ่านความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และนวัตกรรม ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีประเพณี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก ศิลปะ อาหาร การต้อนรับขับสู้ และวิถีชีวิตทำให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ปัจจุบันไทยยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญ และแม้ประเพณีจะหล่อหลอมตัวตนของไทยแต่ก็ไม่ควรจำกัดอนาคต ประเพณีจะต้องเป็นรากฐานสำหรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างอดีตอันรุ่งโรจน์ และเป็นอนาคตอันไร้ขีดจำกัด

...

ในอดีต ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไทยสร้างขึ้นจากการผลิต (manufacturing) เกษตรกรรม และการผลิตจำนวนมาก (mass production) อุตสาหกรรมเหล่านี้ขับเคลื่อนการเติบโตมาหลายทศวรรษ แต่ในโลกปัจจุบันไม่เพียงพออีกต่อไป อนาคตจะเป็นของประเทศที่ลงทุนด้านความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และศักยภาพของมนุษย์

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์) ไม่ใช่แค่อิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองอีกต่อไป แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วย ประเทศต่างๆ ที่สามารถใช้ Soft Power ได้สำเร็จ ไม่เพียงเพิ่มการมีอยู่ในระดับโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างงาน ดึงดูดการลงทุน และขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจด้วย

และนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะทำ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และมี 13 อุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนความคิดริเริ่มนี้ ได้แก่ ท่องเที่ยว, อาหาร, ภาพยนตร์, แฟชั่น, เทศกาล, กีฬา, ดนตรี, ศิลปะ, ออกแบบ, เกม, วรรณกรรม, เวลเนส และศิลปะการแสดง เพื่อเพิ่มความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรมากขึ้น

แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องมีระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง ที่สร้างขึ้นจากบุคลากรที่มีทักษะ และสามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้ Soft Power ไม่ใช่ศักยภาพทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเสริมสร้างศักยภาพบุคคลด้วยเครื่องมือ ทักษะ และความรู้ เพื่อเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลได้เปิดตัวนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power (OFOS)) โครงการระดับชาติที่มุ่งพัฒนาและยกระดับทักษะใหม่ๆ (upskilling and reskilling) ให้กับคนไทยมากกว่า 20 ล้านคน ภายในปี 2570 โดยเปิดสอนหลักสูตรฟรีเกือบ 100 หลักสูตร ไม่ว่าจะด้านการบริการ (hospitality) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สื่อดิจิทัล การออกแบบ เวลเนส และอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรจะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง และกระบวนการที่ยั่งยืน ประเทศไทยในฐานะครัวของโลก อาหารไทยได้รับการยกย่องทั่วโลก ไม่เพียงในเรื่องรสชาติ ยังรวมถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ ความสมดุล และความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ไทยต้องเป็นมากกว่าผู้ส่งออกอาหาร จะต้องยกระดับอาหารไทยให้เป็นแบรนด์ระดับโลกในด้านการทำอาหาร (gastronomy) ความยั่งยืน และสุขภาพ (wellness) อาหารไทยไม่เพียงแต่มีรสชาติอร่อย ยังดีต่อสุขภาพด้วย อาหารไทยไม่ใช่แค่เพียงมื้ออาหาร แต่เป็นประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และด้วยเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง ห่วงโซ่อุปทานที่ขับเคลื่อนด้วย AI และความโปร่งใสของบล็อกเชนของไทย จึงมั่นใจได้ว่าอาหารไทยจะได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและนวัตกรรมในระดับโลก

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ไทยถือเป็นผู้นำระดับโลกด้านการดูแลสุขภาพและบริการเพื่อสุขภาพแบบองค์รวมที่ราคาไม่แพงและมีคุณภาพสูง ตั้งแต่การนวดแผนไทยไปจนถึงนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ ไทยได้วางตำแหน่งประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพระดับโลก ทั้งให้การรักษา และมอบประสบการณ์การดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น โลกคือตลาดของไทย และไทยพร้อมที่จะแสดงความแข็งแกร่งและการเติบโตของเรา ส่วนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และศิลปะการแสดงของไทยก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดึงดูดผู้ผลิตระดับนานาชาติและผู้ชมทั่วโลก อุตสาหกรรมเกมก็กำลังพัฒนา สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับนักพัฒนาและนักออกแบบชาวไทย อุตสาหกรรมเพลงและบันเทิงของไทยก็พร้อมดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เพื่อให้ประสบความสำเร็จ จึงต้องทำมากกว่าแค่การสร้างสรรค์ ไทยต้องการตลาด การส่งเสริม และสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นสากล จึงเป็นเหตุผลที่สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Thailand Creative Culture Agency: THACCA) มีบทบาทสำคัญ เป็นเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อน Soft Power ของไทยไปสู่ระดับใหม่ THACCA จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และนักลงทุนระดับโลก เพื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยมีทรัพยากร ได้รับการมองเห็น และการสนับสนุนเพื่อการเติบโต

Soft Power ไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว แต่ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ ผู้สร้างสรรค์ และนักลงทุนและสำหรับพันธมิตรระหว่างประเทศของไทย ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ จึงขอเชิญชวนให้ 1. เข้ามาร่วมกับเราในการกำหนดอนาคตของ Soft Power 2. เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย และ 3. เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยให้มากกว่าผลตอบแทนในระยะสั้น แต่ให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนและคุ้มค่าร่วมกันในอนาคต Soft Power ของประเทศไทยไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งที่มีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งที่ไทยสามารถเป็นได้ ไทยเป็นประเทศที่มีประเพณีและการปฏิรูป (transformation) มรดกและความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและธุรกิจ ตอนนี้คือเวลาของเรา (Our Time Is Now) พร้อมเชิญชวนมาทำงาน สร้างสรรค์นวัตกรรม และเติบโตไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดในฐานะผู้นำระดับโลกด้าน Soft Power และเศรษฐกิจสร้างสรรค์.