“มาริษ” เผย ก.ต่างประเทศ เตรียมจัดประชุมไตรภาคี “ไทย-จีน-เมียนมา” ลุยแก้ปัญหาอาชญากรข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เผย รัฐบาลผลักดันการแก้ปัญหาผ่านเวทีนานาชาติมาโดยตลอด
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าการประชุมคณะไตรภาคี ระหว่างไทย จีน และเมียนมา ที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องเป็นเจ้าภาพดำเนินการว่า จะมีการประชุมในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดรูปแบบในการแก้ปัญหาขบวนการอาชญากรข้ามชาติ สแกมเมอร์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการกระทำผิดข้ามชาติในรูปแบบอื่นๆ ให้เป็นรูปธรรมระยะยาว ซึ่งมั่นใจว่ากลไกไตรภาคีนี้ จะเป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศ ที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ร่วมกันต่อไปได้
ทั้งนี้ การผลักดันและความพยายามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขจัดขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว รัฐบาลไทยจริงจังมาโดยตลอด จึงทำให้ทางการจีนประสานงานตามกรอบความร่วมมือของหน่วยงานด้านความมั่นคงระหว่างไทยและจีน เพื่อส่งผู้แทนมาร่วมปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านไทยให้สิ้นซาก เพราะการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์บริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น และไทยพร้อมรับความร่วมมือจากทุกประเทศมาร่วมกันจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลไทย
รมว.ต่างประเทศ กล่าวย้ำถึงบทบาทและการดำเนินการของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ที่ผลักดันและพยายามขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ขจัดขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติผ่านเวทีการหารือร่วมกับผู้นำต่างประเทศ รวมถึงประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมียนมาและจีน ในห้วงการประชุมกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น การหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย เมียนมา และอินเดีย ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งในครั้งนั้น ตนได้สนับสนุนความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจำกัดการแพร่ขยายของอาชญากรรมไซเบอร์และการลักลอบค้าอาวุธ ซึ่งอินเดียก็มีศักยภาพที่จะร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าวได้ และไทยก็จะร่วมมือกับเมียนมา ในการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์
...
รวมไปถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ตามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง หรือ MLC ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งถือเป็นกรอบความร่วมมือสำคัญ ที่มีทั้งไทย เมียนมา และจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากขบวนการการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต ร่วมเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือนี้ด้วย และรัฐบาลไทยได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเร่งด่วนเพราะกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน จึงได้เสนอแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบ MLC ตามที่รัฐบาลไทยเสนอ และที่ประชุมมีมติรับรองแถลงการณ์ดังกล่าว
โดยเฉพาะการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ Six Country Informal Consultation เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบขยาย: Extended Informal Consultation หรือ EIC เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ นั้น นายมาริษ ระบุว่า 2 การประชุมดังกล่าว ตนได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงบริเวณชายแดน และต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะปัญหาลักลอบค้ายาเสพติด และการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับอาเซียนด้วย โดยที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ที่เมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซียนั้น ตนก็ได้ย้ำว่าไทยจะเพิ่มความพยายามในการปกป้องประชาชนจากภัยคุกคาม โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติดและการหลอกลวงทางออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งการแสดงบทบาทของไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ เป็นส่วนที่ทำให้การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ สแกมเมอร์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีผลความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม.