นายกฯ มอบ รมว.คลัง ประสานแบงก์ชาติ ฉุดจีดีพีขึ้น ชี้ นอกจากท่องเที่ยว ธนาคารต้องช่วยปล่อยกู้เอสเอ็มอี เผย ครม.สัญจร เคาะเงินฟื้นฟูน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้ 304 ล้าน พร้อมอนุมัติงบกลางเพิ่มเติม 3,600 ล้าน ช่วยผู้ประสบอุทกภัยช่วงฤดูฝนปี 67

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า จากการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปี 2567 เติบโตขึ้นเกือบทุกมิติ แต่ภาคลงทุนของเอกชนหดตัว ปัจจัยที่สำคัญเช่นเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนมากมีถึง 75% ของประเทศ แต่ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อน้อย การปล่อยสินเชื่อจะช่วยเอสเอ็มอีได้อย่างมากเพราะระยะเวลาเป็น 10 ปี การพัฒนาธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชนลดน้อยลง บางอุตสาหกรรมที่เก่าไปแล้ว ไม่ได้รับเงินสินเชื่อในการพัฒนา ภาครัฐพยายามทำทุกเรื่องเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพราะอย่างตอนนี้เงินเฟ้อยังต่ำอยู่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องร่วมมือกัน ขอให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ดูเรื่องของการคลัง ประสานการทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทุกส่วนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทำอยู่ฝั่งเดียวไม่ได้ต้องช่วยกัน

เมื่อถามว่ารัฐบาลตั้งเป้าจีดีพี (GDP) ปี 2568 ที่ 3.5% แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าจะได้เพียง 2.8% จะทำอย่างไรเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า สิ่งที่พูดไปเรื่องของสินเชื่อ รัฐบาลต้องคุยกับ ธปท. เพื่อร่วมมือกัน ความจริงแล้วสิ่งที่รัฐบาลทำพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง ตอนนี้จะเห็นว่าเอกชนที่ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ธุรกิจของเขาไม่ได้ถูกพัฒนา มีปัญหาเรื่องสินเชื่อ ทำให้สถานที่ถูกหยุดการพัฒนา มีอีกหลายที่ที่มีศักยภาพ เราเน้นย้ำเสมอว่าการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่เมืองหลัก เมืองรองก็เช่นกัน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อ นอกจากพัฒนาในเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว กระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายแล้ว ภาคเอกชนเองต้องดูด้วยว่าการลงทุนเพิ่มในระบบทำได้อย่างไรบ้าง ก็ต้องย้อนกลับมาเรื่องการเงิน

...

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงประเด็นที่จีดีพีของเรายังรั้งท้ายในกลุ่มอาเซียน มาตรการที่วางไว้จะทำให้จีดีพีปีขยับขึ้นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตอนนี้ตั้งเป้าไว้ 3% และพยายามดันให้ไป 3.5% เราจะพยายามตั้งเป้าให้มากกว่านั้น มั่นใจว่าในเดือนที่เหลือของปีนี้ เราจะผลักดันอย่างเต็มที่ รวมถึงการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์และ ธปท. ด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องร่วมมือกัน

ส่วนปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นให้จีดีพีสูงขึ้น นอกจากการท่องเที่ยวมีเรื่องอื่นหรือไม่ น.ส.แพทองธาร ตอบว่า การลงทุนจากต่างประเทศ จากที่ตนไปพบปะกับต่างประเทศเราต้องดึงการลงทุน ความจริงแล้วเศรษฐกิจแย่พักใหญ่แล้ว ฉะนั้นการผลักดันทุกส่วนสำคัญมาก เราไม่สามารถทำหนึ่งอย่างแล้วเศรษฐกิจดีทันที เราจะต้องช่วยกัน นโยบายภาครัฐจึงไม่ได้ออกมาแค่หนึ่งนโยบายเพื่อทำให้จีดีพีกระตุ้น ทุกกระทรวงต้องทำเช่นกัน เอกชนต้องช่วยด้วยทุกภาคส่วน จริงๆ มันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือเมื่อปีสองปีที่แล้ว แต่เกิดเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ฉะนั้นต้องช่วยกันทุกฝ่าย

ขณะที่เมื่อถามย้ำว่าจากการลงพื้นที่ประชาชนสะท้อนกิจกรรมของแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีเสน่ห์ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าทำแบบชั่วครั้งชั่วคราว ตรงนี้จะกระตุ้นผู้ว่าฯ อย่างไร น.ส.แพทองธาร ระบุว่า หลายพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในท้องถิ่น ความจริงแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ไปมีความพร้อมในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชน อย่างเมื่อวาน (17 กุมภาพันธ์ 2568) ที่ไปเดินเล่น กระทรวงมหาดไทยก็รับไปดู ชุมชนที่เข้มแข็งก็อยากแนะนำให้ประชาชนคุยกับผู้ว่าฯ และส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลให้อำนาจกับท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง นโยบายต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้ที่มาวันนี้จะผลักดันอย่างเต็มที่ ประชาชนที่ได้พบเจอระหว่างลงพื้นที่ขอให้สบายใจ เรากำลังทำทุกอย่างๆ เต็มที่ เพราะฉะนั้นก็ร่วมมือกันทุกฝ่าย ช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังได้แถลงว่า ครม.วันนี้ เห็นชอบตามที่ สศช. หรือสภาพัฒน์ เสนอให้พิจารณาในโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ครอบคลุมคันกั้นน้ำ ถนน เขื่อนป้องกันตลิ่ง และระบบระบายน้ำที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ที่เกิดเหตุเมื่อเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567 จำนวน 22 โครงการ กรอบวงเงินรวม 304.80 ล้านบาท

อีกทั้ง ครม. รับทราบและเห็นชอบตามที่ สศช. เสนอในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สงขลา สุราษฎร์ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง) จำนวน 23 โครงการ กรอบวงเงินรวม 300 ล้านบาท และเห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จำนวน 12 โครงการ กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรร งบกลางจากปี 2568 ซึ่งส่วนมากจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การกำจัดวัชพืชในทะเลน้อย การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติม และการขออนุมัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 งบกลางเพิ่มเติมจำนวนเงิน 3,653.72 ล้านบาท ตลอดจนอนุมัติพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่ จ.ระนอง จึงมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้จำนวน 405,969 ครัวเรือน.