“พรรคประชาชน” ติงมาตรการห้ามเผา ไร้แผนรองรับ สะท้อนการแก้ปัญหา PM 2.5 เรียกร้องประกาศแผนสนับสนุนชาวนา ลดเผาตอซัง-พยุงราคาข้าวในประเทศ

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่อาคารอนาคตใหม่ สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีการประท้วงของชาวนาเรื่องราคาข้าวตกต่ำ และการจัดการฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาล นำโดย นายณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ, นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.พรคะนครศรีอยุธยา เขต 1 และนายสรวีย์ ศุภปณิตา สส.ปทุมธานี เขต 1

นายณรงเดช กล่าวว่า จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำและมาตรการลงโทษเกษตรกรในการห้ามเผาในพื้นที่การเกษตร โดยไม่มีการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล ส่งผลให้พี่น้องชาวนาหลายจังหวัดชุมนุมเรียกร้องจากรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังนัดหมายชุมนุมต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ พรรคประชาชนเห็นว่าปัญหาทั้ง 2 ที่ชาวนาต้องเผชิญเกิดขึ้นจากภาวะวิกฤติการนำของรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ไม่เข้าใจเงื่อนไขข้อจำกัดของพี่น้องชาวนา ไม่เตรียมการล่วงหน้า และไม่มีการประสานงานที่ดีระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่ดูแลกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะ 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์

จะเห็นได้ว่าทันทีที่รัฐบาลสั่งการให้กระทรวงต่างๆ หามาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 กระทรวงเกษตรฯ ก็ออกมาตรการห้ามเผาในพื้นที่การเกษตรทันที โดยกำหนดบทลงโทษว่าเกษตรกรที่ทำการเผาจะถูกตัดความช่วยเหลือในปีต่อไป เรื่องนี้กระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร พรรคประชาชนทราบดีว่าการเผาในพื้นที่เกษตรเป็นสาเหตุประการหนึ่งของปัญหามลพิษทางอากาศ แต่ควรมีการเตรียมที่ดีกว่านี้ ออกแบบการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ปรับตัว ปรับรูปแบบการทำนาจากแบบที่มีการเผาเป็นแบบที่ไม่มีการเผาได้อย่างแท้จริง

...

4 ขั้นตอนต้องใช้เตรียมดิน

พรรคประชาชนได้ทำการสำรวจพื้นที่การทำนาทั่วประเทศ พบว่าการทำนาโดยเฉพาะการเตรียมดินแบบไม่เผาฟางหรือตอซัง จำเป็นจะต้องมี

(1) น้ำชลประทานหรือน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อใช้ในการหมักตอซัง บางพื้นที่ถ้าไม่ได้น้ำเข้าไปช่วยในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็จะหมักตอซังไม่ได้

(2) จุลินทรีย์ที่ช่วยในการย่อยสลายฟางและตอซังให้เร็วขึ้น

(3) การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ให้บริการ เช่น การติดตั้งเครื่องกระจายฟางของรถเกี่ยวนวดข้าว หรือการปรับเครื่องมือในการไถและเตรียมแปลง

(4) ที่สำคัญมากคือการมีผู้ให้บริการที่เพียงพอในการรับจ้างไถนาแบบไม่เผาตอซัง ซึ่งจะมีระยะเวลาและต้นทุนทำงานที่มากกว่าการเตรียมดินแบบเดิม

เผยภาคเกษตรยังเผาไม่หยุด

การที่จู่ๆ รัฐบาลออกมาตรการโดยไม่มีการเตรียมพร้อม ทำให้ถ้าวันนี้ไปดูแผนที่ทางอากาศที่เป็นพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) จะเห็นว่ายังมีการเผาในพื้นที่ภาคการเกษตรอยู่ เนื่องจากพี่น้องชาวนาที่ทำนาปรังในฤดูกาลผลิตนี้มีความกังวลว่าถ้าไม่สามารถเตรียมพื้นที่ทำนา จะไม่สามารถทำนาในฤดูกาลต่อไปได้ทัน ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมากในพื้นที่ภาคกลางที่ต้องทำนาหนีน้ำท่วม

นายณรงเดช กล่าวต่อไปว่า พรรคประชาชนเรียกร้องมาตั้งแต่กลางปี 2567 ให้มีการเตรียมสนับสนุนปัจจัยเหล่านี้อย่างเป็นระบบและทั่วถึง จากการหารือกับพี่น้องชาวนาจำนวนมากทราบว่าส่วนใหญ่ยินดีปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยลด PM2.5 หากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ และไม่เพิ่มต้นทุนการทำนาแก่เกษตรกร เพราะการลดการเผาจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินให้กับเกษตรกรด้วย

แนะรัฐประกาศแผนไม่เผาให้ชัด

พรรคประชาชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศแผนการสนับสนุนชาวนาในการไม่เผาตอซังให้ชัดเจน โดยวางแผนร่วมกับพี่น้องชาวนาในแต่ละทุ่งอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการปล่อยน้ำ การจัดหาผู้ให้บริการไถนา และการเตรียมความพร้อมของผู้ให้บริการไถนา โดยงบประมาณในการดำเนินการจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 200 บาทต่อไร่ ก็จะสามารถช่วยพี่น้องเกษตรกรได้อย่างเป็นระบบและทั่วถึง

นอกจากนี้ การสนับสนุนพี่น้องชาวไร่อ้อย ที่ในวันพรุ่งนี้โรงงานบางโรงก็จะเริ่มปิดหีบแล้วแต่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดหรืออ้อยไม่เผาเข้าสู่โรงงานในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตามที่เคยประกาศไว้กับพี่น้องชาวไร่อ้อยหรือไม่ ทำให้ชาวไร่อ้อยไม่มีความมั่นใจ หรือแม้แต่กระทรวงเกษตรฯ กับนายกฯ ที่ออกมาประกาศว่าถ้าใครเผาจะไม่ได้ไร่ละพัน คำถามจากพี่น้องเกษตรกรคือสรุปแล้วปีนี้จะยังมีโครงการไร่ละพันใช่หรือไม่ ถ้าเขาไม่เผา เขาจะได้เงินส่วนนี้แน่นอนใช่หรือไม่

เย้ย “ตลาดนำ” แค่คำกลวง

ส่วนเรื่องราคาข้าว พรรคประชาชนแสดงความเป็นห่วงและผลักดันผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอดว่า เมื่อประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก กลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ภายหลังจากสถานการณ์เอลนีโญคลี่คลาย สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกและในประเทศไทยตกต่ำลง

พรรคประชาชนย้ำว่ารัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการในการดูดซับผลผลิตที่ออกมาพร้อมกันในช่วงต้นฤดู เช่น สินเชื่อในการชะลอการขายข้าว และระบายผลผลิตข้าวไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งตลาดส่งออกและการแปรรูปในประเทศ แต่รัฐบาลก็ดำเนินการอย่างล่าช้า แม้ว่าจะมีการช่วยเหลือไร่ละพัน แต่มาตรการไร่ละพันเป็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ไม่ใช่มาตรการในการรักษาระดับราคาข้าวแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่า หลังมีมาตรการไร่ละพัน ราคาข้าวก็ยังลดลงต่อเนื่อง นั่นแปลว่าคำว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาล เป็นเพียงคำกล่าวกลวงๆ ที่ไม่มีการดำเนินการจริงแต่อย่างใด

เรียกร้องประกาศแผนรักษาราคาข้าว

พร้อมกันนี้ พรรคประชาชนขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศแผนในการรักษาระดับราคาข้าวเปลือก โดยเฉพาะสำหรับผลผลิตนาปรังที่จะออกมาในช่วงนี้จนกระทั่งอีก 1-3 เดือนข้างหน้า โดยเดือนมีนาคมจะมีผลผลิตออกมาสูงสุด รัฐบาลจะต้องมีแผนในการนำผลผลิตข้าวและแป้งข้าวเจ้าไปใช้เพื่อการแปรรูป และสนับสนุนการเปิดตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางอาหารแก่ประเทศและพื้นที่ที่ขาดแคลน เพื่อกระตุ้นระดับราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้น

โดยพรรคประชาชนจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องผ่านกลไกในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ ที่จะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ เชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวและพี่น้องชาวนามาหารือ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาทั้งสองนี้อย่างจริงจังและเพียงพอจากรัฐบาล พรรคประชาชนอาจมีความจำเป็นต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ชาวนาบางบาลห่วงต้นทุนเพิ่ม

ด้าน นายทวิวงศ์ กล่าวถึงปัญหาเฉพาะของเกษตรกรในทุ่งรับน้ำบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีข้อจำกัดในการทำนาแบบไม่เผาฟาง โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยน้ำชลประทานช่วงฤดูแล้ง จนทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวนาต้องกังวลใจว่าถ้าไม่เผาแล้วจะเพิ่มต้นทุนในการทำนาอีกหรือไม่ โดยเฉพาะการกำหนดการระบายน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำใน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 15 กันยายนของทุกปี ในช่วงฤดูน้ำหลากหรือฤดูฝน แต่เมื่อย้อนกลับมาในช่วงต้นปีแบบนี้ ชาวนากลับไม่มีน้ำทำนาเพียงพอ ทำให้ต้องทำนาล่าช้าหรือเก็บเกี่ยวล่าช้า หรือไม่สามารถทำนาปีเพื่อทำข้าวราคาดี มีคุณภาพได้ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการปลูกนาน เมื่อน้ำทำนามาช้าตั้งแต่ต้นปี ทำให้เมื่อเริ่มปลูกนาปีในช่วงประมาณมีนาคมถึงเมษายน ชาวนาก็จะปลูกข้าวได้ช้าลง ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันในวันที่ 15 กันยายน

แนะจัดการน้ำต้องพร้อม

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่ข้อเสนอของพรรคประชาชนต่อรัฐบาลในการออกนโยบายจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องการมีทุ่งรับน้ำสำหรับลดผลกระทบจากน้ำท่วม และการทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวนามีบ่อกักเก็บใช้ตลอดทั้งปี และได้รับน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำนา มีระยะเวลาและมีตัวช่วยเพียงพอในการไถนาแบบไม่เผาฟาง ก่อนที่จะปล่อยน้ำเข้าทุ่งในเดือนกันยายน เพื่อให้พี่น้องชาวนามีรายได้ที่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ

นายทวิวงศ์ ระบุอีกว่า ตนจะส่งข้อเสนอในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำและปัญหาน้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ผ่านทางผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อข้อเสนอการแก้ปัญหาให้รัฐบาลต่อไป รวมถึงส่งเรื่องให้ กมธ.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำไปหารือในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ต่อไป.