“รองนายกฯ ภูมิธรรม” เผยเมียนมาประสานขอส่ง 53 เหยื่อคอลเซ็นเตอร์เข้าไทยวันนี้ ยันไม่ตั้งศูนย์อพยพ สอบสวนเสร็จส่งกลับประเทศทันที ขอพยานหลักฐานเตรียมออกหมายจับ “หม่อง ชิตตู่” แล้ว ย้ำ หากเข้าแดนไทยพร้อมจับทันที ชี้ สั่งเด้งตำรวจเอี่ยวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำตามขั้นตอนสอบสวน

วันที่ 12 ก.พ. 2568 ที่สนามบินกองบินตำรวจ รามอินทรา กทม. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงกรณีทางการเมียนมาขอส่งผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอก มาพักไว้ที่ไทย เพื่อตรวจสอบก่อนส่งกลับ ว่า ได้รับการประสานมาว่าวันนี้จะส่งเข้ามา 53 คน จาก 8 ประเทศ อาทิ เอธิโอเปีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ เคนยา โดยได้รับการติดต่อมาเนื่องจากเมียนมาดูแลไม่ไหว การทำงานเขาลดประสิทธิภาพลง หรือปิดลง จึงปล่อยตัวออกมา ขณะเดียวกันเราได้มีการประสานงานภายในกับเมียนมาว่าหากต้องการลดความกดดันลงในเรื่องการตัดน้ำมัน ตัดไฟ ตัดอินเทอร์เน็ต จะต้องทำให้เราเห็นว่าประเทศเขาปลอดภัยจากเรื่องนี้ ดังนั้นเขาเองต้องจัดการดำเนินการตามแรงกดดัน ตรงนี้เราก็มาถูกทางแล้ว การที่มาขู่เราว่าจะตัดเส้นทางไม่ให้สินค้าเข้าไม่ใช่ปัญหาของเรา เป็นปัญหาของเขา อันนั้นขู่เราไม่ได้

เมื่อถามว่า การที่ทางเมียนมาดูแลคนไม่ได้แล้วส่งมายังไทย จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์ดูแลผู้อพยพแทนหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนพูดชัดเจนแล้วว่าเราจะไม่ตั้งศูนย์อพยพ การส่งเข้ามา เมื่อแจ้งเรามา เราแจ้งประเทศเขา ก็จะตรวจสอบกัน เวลาเมียนมาส่งมาจะมีรายชื่อ มีพาสปอร์ตชัดเจน เราก็ส่งประเทศนั้นๆ ซึ่งนอกเหนือจากจีน ก็มีประเทศในภูมิภาคต่างๆ ที่มีสถานทูตติดต่อมาว่าได้รับข้อมูลว่าคนของเขามีปัญหา ซึ่งเราก็ประสานอยู่ เพราะเขาไม่มีทางที่จะติดต่อเองได้ เราก็บอกว่าเราพยายามทำให้ หากได้คนเมื่อไหร่ก็จะประสานไปยังสถานทูต เขาก็จะมาเคลียร์ ในส่วนที่เขาเคลียร์เองก็มี ญาติเขาไปจ่ายเงินไถ่ตัวกันมา เราก็พอทราบข่าวบ้าง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา

...

ทั้งนี้ หากมีการประสานงานมา เราก็จะขอเข้ากระบวนการตรวจสอบของเราก่อน ถ้าพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวพันและถูกหลอกลวงมา เราก็จะส่งคืน แต่ต้องขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน ว่ามาลงที่จุดไหน ใครติดต่อมา เอาไปพักไว้ที่ไหน กระบวนการเป็นอย่างไรกว่าจะเข้าชายแดนเมียนมา และใครเป็นคนประสาน เพื่อให้รู้กระบวนการ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 1 เดือนในการตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อมูลให้เราไปหาจุดที่มีปัญหาอยู่ หลังจบกระบวนการแล้วก็จะส่งคืน ถ้าประเทศเขาไม่มีความชัดเจนว่าจะรับคนกลับ เราก็จะไม่ให้ส่งเข้ามา เราไม่รับ

เมื่อถามว่า แนวโน้มที่เมียนมาจะผลักดัน ส่งคนกลับมาไทยจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตรงนี้พูดยาก เราทราบเพียงว่ามีกระบวนการนี้มาก เราก็ทำอยู่ แต่ว่าเบื้องต้นเรามีกองกำลังที่อยู่ตามแนวชายแดนเตรียมป้องกันไว้แล้ว ถ้ามีการทะลักเข้ามา ซึ่งบางคนบอกเป็นหมื่น บางคนบอกเป็นแสน เราก็ดูอยู่ เมื่อวานตนได้รับรายงานจากทางอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งกลุ่มที่มา 53 คนวันนี้ก็มาทางนี้พอดี โดยเรื่องนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่เราก็เตรียมไว้สูงสุด เพราะเราไม่รู้การปรับตัวและการตัดสินใจของเขา

ทั้งนี้ จาก 8 ชาติ รวม 53 คน ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ 12 เคนยา 4 แทนซาเนีย 1 บราซิล 2 เอธิโอเปีย 21 ปากีสถาน 5 บังกลาเทศ 2 เนปาล 6

ขอพยานหลักฐานเตรียมออกหมายจับ “หม่อง ชิตตู่”

นายภูมิธรรม ยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเตรียมออกหมายจับพันเอกหม่อง ชิตตู่ ผู้นำคนปัจจุบันของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าหมายจับออกแล้วหรือไม่ แต่มีการติดต่อประสานมาเพื่อขอหลักฐานในการออกหมายจับ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ เมื่อออกหมายจับแล้วคงไปจับในประเทศเขาไม่ได้ เพราะถือเป็นอธิปไตย แต่ถ้าออกหมายจับแล้วมีการขยับเข้ามาพื้นที่ของไทย ก็สามารถจับได้เลย ซึ่งหากมีการออกหมายจับก็จะไปเฝ้าดูที่พักที่มีข่าวว่าอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ

ย้ำ เฝ้าระวังหากเข้าแดนไทยพร้อมจับทันที

ส่วนการออกคำสั่งย้ายข้าราชการที่เข้าไปพัวพันกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ขณะนี้มีสองราย จะมีการออกคำสั่งเพิ่มอีกหรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า ขณะนี้มีคำสั่ง 5-6 ตำแหน่ง คือผู้กำกับ 3 สถานี ซึ่งเป็นพื้นที่ตามรายงานข่าว คือสถานีตำรวจภูธรแม่สอด สถานีตำรวจภูธรแม่ระมาด และสถานีตำรวจภูธรพบพระ โดยให้ขาดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่เดิมให้ย้ายไปกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ส่วนอีกสองรายนั้นเป็นผู้การฯ จังหวัด และนายพล ต. ในส่วนของนายพล ต. ถูกกำหนดและระบุเส้นทางอีกหลายส่วนก็ได้สั่งย้ายมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งหมดไม่สามารถสั่งการในพื้นที่ได้ แต่ยังไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดมีความผิด เพียงต้องดำเนินการจัดการข้อที่ถูกกล่าวหาที่สอบสวนขั้นต้น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องในพื้นที่ที่อาจจะเป็นการละเลยหรือเรื่องอะไรต่างๆ ซึ่งทางตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว หากพบว่ามีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ขณะนี้นำออกมาเพื่อให้ทำงานสะดวกและปลอดภัยขึ้น และทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความโปร่งใสชัดเจน ถืออยู่ในกระบวนการ “SEAL STOP SAFE” ใน 51 อำเภอ 14 จังหวัด ที่หากพบว่ามีปัญหาจังหวัดและผู้การฯ จังหวัดต้องรับผิดชอบ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องที่ใน 76 สถานีก็จะดำเนินการแนวนี้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพและข้อเท็จจริง ต้องให้เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสียกำลังใจ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็จะเอาออกมาจากพื้นที่ก่อน ซึ่งการเกี่ยวข้องอาจไม่เกี่ยวโยงผลประโยชน์ อาจปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้เกิดปัญหามาก และตามเงื่อนไขที่คุยในเรื่องซีลชายแดนสามส่วน ถ้าไม่ชัดเจนว่าจะทำไหวก็ให้แจ้งมา แต่ถ้ายืนยันว่าทำไหวก็ต้องทำให้เกิดผล เพราะกระบวนการนี้มีทั้งคุณและโทษ แต่ไม่ได้มุ่งหมายว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายผิด แต่ต้องรับผิดชอบในพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่